Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2564

Econ Digest

สกุลเงินดิจิทัล...ตัวแปรพลิกโฉมการเงินโลก สร้างประโยชน์เชิงเศรษฐกิจเหนือสถาบันการเงินดั้งเดิม

คะแนนเฉลี่ย

ท่ามกลางโจทย์เฉพาะหน้าจากปัญหาการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกที่ภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินยังต้องเผชิญ แต่ในทางคู่ขนาน ภาคการเงินก็ยังมีความเคลื่อนไหวของสกุลเงินดิจิทัล (Digital currency) ที่จะมาสร้างปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกการเงินสมัยใหม่อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดว่า ในปี 2564 นี้ คงจะเริ่มเห็นสกุลเงินดิจิทัลหลายๆ สกุลที่น่าจะมีบทบาทมากขึ้น และพร้อมที่จะพัฒนาขึ้นมาทดแทนเงินสดสกุลท้องถิ่นได้ชัดเจน เช่น Stablecoin ที่ออกโดยภาคเอกชนอย่าง Diem (Libra เดิม) หรือแม้แต่ CBDC (Central Bank Digital Currency) ที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เป็นต้น
คำถามสำคัญถัดไป คือ ความแพร่หลายของสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าวจะรวดเร็วเพียงใด? ซึ่งในทางปฏิบัติ จะขึ้นกับความสามารถในสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Economic Values) จากการใช้งานของสกุลเงินนั้นๆ นั่นคือ หากประโยชน์จากการใช้งานยิ่งมาก ก็จะยิ่งมีขอบเขตการใช้งานในวงกว้างขึ้น จนอาจสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือส่งผลกระทบต่อระบบรับชำระเงิน หรือบทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ
แล้ว Economic Values ของสกุลเงินดิจิทัลคืออะไรบ้าง? นอกเหนือจากการลดต้นทุนการทำธุรกรรมผ่านเงินสด หรือลดต้นทุนการทำธุรกรรมระหว่างประเทศแล้ว การใช้สกุลเงินดิจิทัลใน Ecosystem ของผู้ออกเอง และพันธมิตร จะทำให้กลไกการตรวจสอบข้อมูล ทั้งรายได้ ธุรกรรมการเงินและไม่ใช่การเงิน รวมถึงข้อมูลเชิงพฤติกรรมต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากมีข้อมูลของผู้ใช้ในระบบที่ค่อนข้างสมบูรณ์มากกว่า ส่งผลให้ระบบของสกุลเงินดิจิทัลมีความได้เปรียบในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ นั่นหมายความว่า ในกรณีที่ผู้ออกสกุลเงินดิจิทัลจะขยายขอบเขตการให้บริการไปที่การให้สินเชื่อ ก็จะช่วยให้มีการประเมินความเสี่ยงเครดิตของลูกค้าที่แม่นยำมากขึ้น อันมีผลดีต่อทั้งการกำหนดราคา วงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม ตลอดจนบรรเทาภาระการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าของหนี้ในอนาคต  
นอกจากนี้ มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มเติมนั้น ยังออกมาในรูปของการตรวจสอบการฟอกเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ซึ่งจุดแข็งดังกล่าวของระบบสกุลเงินดิจิทัล ควบคู่กับการที่ลูกค้าอาจเข้าไปอยู่ในระบบของสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นในอนาคต จะช่วยให้ระบบสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ มีขีดความสามารถมากขึ้นในการให้บริการการเงินกับกลุ่มลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของสถาบันการเงินได้ (กลุ่ม Unbanked หรือ Under-banked) นั่นเท่ากับว่า จะทำให้อำนาจของตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกและควบคุมโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ (Central Bank Digital Currency) ย่อมสามารถควบคุมและกำหนดให้ข้อมูลของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลเงินได้ และข้อมูลการทำธุรกรรมต่างๆ ให้เข้ามาอยู่ในระบบกลาง จึงน่าจะส่งผลดีต่อระบบการจัดเก็บภาษี การตรวจสอบการฟอกเงิน หรือการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายเช่นกัน
ถึงแม้ว่าในหลักการ ระบบของสกุลเงินดิจิทัลจะมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบของตัวกลางอย่างธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน แต่หากสกุลเงินดิจิทัลมีเป้าหมายระยะยาวที่จะเป็นสกุลเงินที่แพร่หลายในระดับภูมิภาคหรือโลก ดังนั้น ความท้าทายถัดไปที่สำคัญจึงอยู่ที่เทคโนโลยีดิจิทัลในการสนับสนุนการทำธุรกรรม โดยเฉพาะด้านความเร็วและความจุในการจัดเก็บข้อมูลและประมวลผล เพื่อที่จะสามารถรองรับการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าว รวมถึงความเพียงพอของปริมาณเงินในระบบที่จะรองรับปริมาณธุรกรรมขนาดใหญ่ที่ใช้หมุนเวียนในระดับโลก...ย่อมมีผลต่อการขับเคลื่อนให้เงินสกุลดิจิทัลนั้นๆ มีความลื่นไหลในการรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้จริงในทางปฏิบัติ 
เมื่อเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนแล้ว ย่อมทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศไม่อาจปฏิเสธการใช้สกุลเงินดิจิทัล นอกเหนือจากการใช้สกุลเงินท้องถิ่นเดิม อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่จะทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยอมรับการใช้สกุลเงินดิจิทัลได้นั้น ยังขึ้นกับว่าผู้ออก โดยเฉพาะภาคเอกชน จะเปิดให้ธนาคารกลางสามารถเข้าถึงข้อมูลในระบบ หรือให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจสอบข้อมูลการหมุนเวียนของเงินหรือไม่และมากน้อยเพียงใดด้วย เพื่อประโยชน์ต่อการตรวจสอบธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต 



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest