Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 ตุลาคม 2564

Econ Digest

ตลาดที่อยู่อาศัยไทยปี 64 ยังอ่อนแรง

คะแนนเฉลี่ย


ตั้งแต่ต้นปี 2564 ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ชะลอการเปิดโครงการใหม่ จากสภาวะตลาดที่ไม่เอื้อและจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมยังทรงตัวระดับสูง ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะตลาด ซึ่งจากข้อมูลของ เอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ครึ่งแรกปี 2564 การเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีจำนวน 25,257 หน่วย ลดลง 15.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ลดลงอย่างมาก ขณะที่ผู้ประกอบให้ความสำคัญกับตลาดแนวราบมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มนี้มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง ระยะเวลาก่อสร้างสั้น และบริหารความเสี่ยงได้ง่าย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการทำแคมเปญการตลาด นำเสนอโปรโมชั่นพิเศษอย่างหนักเพื่อจูงใจลูกค้า ซึ่งเป็นจังหวะดีสำหรับผู้มีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้ยอดขายกลับมาเพิ่มขึ้น แม้จะยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด จากข้อ​มูลของ เอเจนซี ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส พบว่า ครึ่งแรกปี 2564 การจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มขึ้น 37.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยสะสมรอขายในกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงครึ่งปีแรกนี้ปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.14 แสนหน่วย ลดลง 5.7% จาก ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาด 

แนวโน้มตลาดช่วงที่เหลือปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ยังมีปัจจัยท้าทายและความเปราะบางสูง แม้สถานการณ์โควิดเริ่มนิ่งขึ้น และตลาดยังพอมีปัจจัยหนุนจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64  แต่ผลของโควิดทำให้การฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยต้องใช้ระยะเวลานานขึ้นกว่าจะกลับสู่ระดับก่อนโควิด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเปิดโครงการใหม่ในช่วงที่เหลือปีนี้ น่าจะยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง โดยทั้งปี 2564 ที่อยู่อาศัยเปิดใหม่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลน่าจะมีจำนวน 4.1-4.8 หมื่นหน่วย ต่ำสุดในรอบ 18 ปี ขณะที่การจองซื้อที่อยู่อาศัยใหม่น่าจะมีจำนวน 5.7-6.3 หมื่นหน่วย ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน โดยแม้ว่าครึ่งปีแรกกิจกรรมการขายจะดีขึ้น แต่การระบาดของโควิด-19 น่าจะทำให้กิจกรรมการซื้อขายช่วงครึ่งปีหลังกลับมาอ่อนแรงลง

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest