Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 มกราคม 2561

การค้า

ต่ออายุ GSP ล่าช้า ... กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จำกัด (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2894)

คะแนนเฉลี่ย

ในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐฯ หรือ GSP (Generalized System of Preferences) ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่ไปยังสหรัฐฯ มีแต้มต่อในการทำตลาดได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ดี ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการต่ออายุสิทธิ GSP ที่ให้แก่ประเทศต่างๆ จากรอบที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2560 อันส่งผลให้สินค้าส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เดิม รวมถึงไทย ต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติในช่วงการพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ

ทั้งนี้ ในปี 2561 เป็นปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจในประเทศในลำดับต้นๆ ทำให้การพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP มีช่วงเวลาไม่ชัดเจนซึ่งมีความเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 การขาดช่วงสิทธิ GSP เป็นการชั่วคราวของไทยไม่เกิน 6 เดือน ก็จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561 กรณีที่ 2 การขาดช่วงสิทธิ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในสินค้าบางประเภท

ดังนั้น การที่สิทธิ GSP ที่ไม่ต่อเนื่องในครั้งนี้ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่ม GSP บางส่วนเผชิญความท้าทายระหว่างรอเวลาการต่ออายุสิทธิ GSP ดังนี้

- กลุ่มสินค้าที่ไม่น่ากังวลนักเพราะไทยครองตลาดในสหรัฐฯ และไทยมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งช่วงห่างคู่แข่งพอสมควร แม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นทันทีตามการเก็บภาษีที่ MFN แต่สินค้าไทยก็น่าจะยังไปได้ คือ เลนส์ และถุงมือยาง

กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เผชิญอัตราภาษี MFN ที่ค่อนข้างสูงทำให้ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นรุนแรง อีกทั้งไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อยจึงมีความเสี่ยงที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทันที ได้แก่ กุญแจรถยนต์ มอเตอร์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เป็นเซรามิกส์ วาล์วสำหรับยางใน ของที่ทำด้วยพลาสติก ลิ้นจี่กระป๋อง และแผงควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น

กลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวังอาจมีคำสั่งซื้อค่อยๆ ลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวสินค้าเป็นหลัก ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาสินค้าจากแหล่งอื่นมาทดแทนยาก ก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะยังคงรักษาตลาดไว้ได้ แต่ถ้าหากเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีส่วนแบ่งกำไรที่ต่ำ ผู้ประกอบการนำเข้าทางฝั่งสหรัฐฯ อาจไม่สามารถแบกรับภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ จนอาจจะตัดสินใจไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นได้โดยง่าย

โดยสรุป หากการต่ออายุสิทธิ GSP เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วก็น่าจะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในภาพรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ก็น่าจะยังให้ภาพเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.3 มีมูลค่าการส่งออกราว 27,700 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการร้อยละ 4.8-5.8) แต่ถ้าการขาดช่วงของ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ร้อยละ 0.5 -1.0 ของคาดการณ์การส่งออก ซึ่งการเติบโตดังกล่าวอาจชะลอลงจากปี 2560 ที่มีฐานค่อนข้างสูงเพราะการส่งออกที่เร่งตัวตลอดปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 8.1 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 24,335 ล้านดอลลาร์ฯ ​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า