Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 เมษายน 2565

การค้า

เกณฑ์มาตรการคาร์บอน CBAM : เรื่องควรรู้ของผู้ส่งออก (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3322)

คะแนนเฉลี่ย

​มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) เป็นหนึ่งในมาตรการ Fit For 55 ภายใต้นโยบาย the European Green deal ที่มีเป้าหมายให้สหภาพยุโรป (EU) สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิได้อย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกในปี 1990 และลดลงเหลือศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยจะบังคับให้การนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก EU ที่มีราคาสูงกว่า 150 ยูโร และอยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนด ซึ่ง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมายแรก ได้แก่ ซีเมนต์ บริการไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และ อะลูมิเนียม จะต้องได้รับอนุญาต (Authorization) และมีการรายงานข้อมูลตามกลไก CBAM (CBAM Declaration) ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้ในปีหน้า โดยช่วง 3 ปีแรก (2023 – 2025) จะเป็นการรายงานข้อมูล (CBAM Declaration) เท่านั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการมีช่วงเวลาในการปรับตัว จะเริ่มบังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2026 โดยจะต้องมีการรายงานข้อมูลพร้อมยื่นหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียม CBAM Certificates ภายในวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี  ทั้งนี้ ทางรัฐสภายุโรป อยู่ระหว่างการขยายขอบเขตมาตรการ โดยให้จะเพิ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ สารเคมีอินทรีย์พื้นฐาน ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และ โพลีเมอร์ และปรับวิธีคิดปริมาณก๊าซเรือนกระจกและลดระยะเวลาการรายงาน ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ส่งออกจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่เพิ่มมากขึ้นและเร็วขึ้นจากเดิม

ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายควรทำความเข้าใจ เร่งปรับตัวเพิ่มประสิทธิภาพและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต รวมถึงจัดทำระบบการเก็บข้อมูลก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รักษาฐานลูกค้าในต่างประเทศและเตรียมรองรับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ทั้งจากสหภาพยุโรป และประเทศคู่ค้าอื่น เช่น สหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายในการเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอนสำหรับการนำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมเป้าหมายเช่นเดียวกัน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม