Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กุมภาพันธ์ 2564

เกษตรกรรม

ภัยแล้งปี 2564 คาดไม่รุนแรง … แต่ราคาข้าวนาปรังอาจปรับตัวลดลง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3192)

คะแนนเฉลี่ย

                  ​สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2564 (มกราคม–เมษายน 2564) นับว่าไม่รุนแรง และน่าจะมีความรุนแรงน้อยกว่าปี 2563 พิจารณาจากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ลดลงเพียงร้อยละ 7.3 (YoY) ซึ่งเป็นการลดลงเฉพาะในภาคตะวันตกเท่านั้น ขณะที่ภาคอื่นๆ ยังมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากกว่าปีก่อน

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า จากภาวะภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ในบางพื้นที่จนต่อเนื่องไปถึงเดือนเม.ย. น่าจะไม่กระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรฤดูแล้งหลักอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ หรือมีผลกระทบอยู่ในวงจำกัด และเป็นผลกระทบแค่ในระยะสั้นเท่านั้น โดยคาดว่า ผลผลิตข้าวนาปรังน่าจะขยับขึ้นได้เล็กน้อย (เมื่อเทียบจากฐานที่ต่ำในปีก่อน) ไปอยู่ที่ราว 4.4-4.7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5-5.5 ขณะที่ในแง่ของราคาคาดการณ์เฉลี่ยข้าวนาปรังอาจอยู่ที่ 8,800-9,000 บาทต่อตัน หรือลดลงร้อยละ 1.5-3.7 (YoY) นอกจากนี้ มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจไม่เกิดขึ้นหากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนคาดการณ์มาตามปกติ ขณะที่หากเป็นกรณีปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ก็อาจทำให้มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นน้อยกว่า 1,000 ล้านบาท

​            อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามระยะเวลาและพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเป็นระยะ และต้องติดตามสภาพภูมิอากาศในช่วงระยะ 2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูแล้งและยังอาจมีพายุฤดูร้อนเพิ่มเติมเข้ามาได้อีก อย่างไรก็ตาม แม้การประเมินผลกระทบจากภัยแล้งจนถึงขณะนี้ว่ายังไม่มีผลกระทบต่อผลผลิตพืชเกษตรหลักของไทยอย่างข้าวนาปรังอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในระดับภูมิภาค ปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่อมส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อคนในท้องที่ที่เดิมครัวเรือนส่วนใหญ่ก็เผชิญความยากลำบากอยู่ก่อนแล้ว จากปัญหารายได้เกษตรกร การมีงานทำ ปัญหาในภาคธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่สิ้นสุด จะยิ่งเป็นปัจจัยฉุดรั้งให้ภาพรวมความต้องการสินค้าเกษตรอยู่ในภาวะที่เติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เกษตรกรรม