กระแสการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมอิออนในไทยมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ทั้งจากการลงทุนของค่ายรถกระแสหลักเพื่อตอบสนองการเติบโตของปริมาณการผลิตรถยนต์ xEV ในไทย และการลงทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมพลังงานไทยที่เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับยานยนต์ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี ค่ายรถยนต์มีแนวโน้มจำกัดการลงทุนในไทยอยู่เพียงขั้นตอนการประกอบ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการลงทุนผลิตเซลล์แบตเตอรี่ในอินโดนีเซีย แล้วส่งออกมายังไทยเพื่อประกอบเป็นแพ็กแบตเตอรี่เพื่อใช้ในรถยนต์ xEV ที่ผลิตในไทย ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยที่มีการลงทุนผลิตแบตเตอรี่แบบครบวงจรตั้งแต่ระดับเซลล์ ก็น่าจะเผชิญความท้าทายที่จะนำเสนอเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่ตนมีอยู่ให้เป็นส่วนหนึ่งในการผลิตรถยนต์ xEV ของค่ายรถกระแสหลัก เนื่องจากค่ายรถมักเลือกใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ของพันธมิตรที่ร่วมพัฒนามาด้วยกัน เพราะสามารถตอบโจทย์ทั้งด้านการออกแบบของแพลทฟอร์มยานยนต์ไฟฟ้าและคุณสมบัติด้านความปลอดภัยในการใช้งานที่ค่ายรถต้องการ ทำให้โอกาสทางธุรกิจของผู้ผลิตแบตเตอรี่ไทยในห่วงโซ่อุปทานรถยนต์ xEV น่าจะจำกัดอยู่เพียงการรับประกอบแบตเตอรี่ที่ใช้เทคโนโลยีของค่ายรถยนต์
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2564 อุปสงค์แบตเตอรี่ลิเธียมอิออนสำหรับการผลิตรถยนต์ xEV ของไทยน่าอยู่ที่ราว 58,324 แพ็ก ขยายตัวราวร้อยละ 53.0 จากปีก่อนหน้า โดยเป็นอุปสงค์จากการผลิตรถ HEV และ PHEV เป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 99 ของการผลิตรถยนต์ xEV ทั้งหมด ในขณะที่รถ BEV นั้น ปัจจุบัน ค่ายรถกระแสหลักยังคงนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาด มีเพียงค่ายรถสตาร์ทอัพที่ดำเนินการผลิตในไทย ทำให้ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับรถ BEV ยังคงไม่สูงนัก
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น