ด้วยค่าครองชีพและกำลังซื้อที่กดดันการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประกอบกับการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปที่มีหลากหลายระดับราคาและช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดมาระยะเวลาหนึ่ง อาจยังเผชิญความท้าทายในการเพิ่มปริมาณการบริโภคเพื่อเสริมหรือทดแทนมื้ออาหารหลักในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่หรือตลาด Mass โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ น่าจะอยู่ที่ 4,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.1% ซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ว่าอาจเติบโตได้ราว 7.0% จากปีก่อน โดยเป็นการเติบโตจากฝั่งราคาเป็นหลัก และอัตราการเติบโตนี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าการเติบโตของอาหารในกลุ่มโปรตีน ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ราว 8.8% ในปีนี้ ในขณะที่ปริมาณการบริโภคโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในภาพรวมอาจหดตัว เพราะผู้บริโภคควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมมากขึ้น โดยการเลือกซื้ออาหารทั่วไปที่ราคาถูกกว่าและหาซื้อได้ง่ายกว่า
อย่างไรก็ดี ด้วยศักยภาพในตัวสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์การบริโภคเรื่องสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ตลอดจนการรุกเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจังของผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น ซึ่งน่าจะทำให้เกิดการลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นตามมาทั้งในมิติของรสชาติ ราคา ช่องทางจำหน่าย ทำให้คาดว่ามีโอกาสที่อัตราการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้จะยังขยายตัวในระยะข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น