Display mode (Doesn't show in master page preview)

7 พฤษภาคม 2564

อุตสาหกรรม

กระแสการลงทุนของโลกหลังโควิดจากการปรับซัพพลายเชนครั้งใหญ่ ไทยได้อานิงส์จากการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม คาดทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่ม 1.1-1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3218)

คะแนนเฉลี่ย

กระแสการลงทุนของโลกหลังโควิดจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนครั้งใหญ่ เนื่องจากโควิดทำให้บริษัทข้ามชาติในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ตระหนักถึงความเปราะบางของซัพพลายเชนโลก ประกอบกับกระแสสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้บริษัทข้ามชาติหันมากระจายความเสี่ยงออกจากจีน เทรนด์โลกหลังโควิดจะทำให้เกิดกระแส Reshoring หรือกระแสเจ้าของเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายฐานโรงงานกลับประเทศในการผลิตสินค้านวัตกรรม ร่วมกันกับกระแส Diversification หรือกระแสการร้างฐานการผลิตและซัพพลายเชนใหม่สำหรับการผลิตสินค้ากระแสหลัก เพื่อกระจายความเสี่ยงในกรณีฉุกเฉิน

               ในกระแสเทรนด์โลกหลังโควิด ประเทศไทยควรได้รับอานิสงค์จากกระแส Diversification เพราะประเทศไทยคือหนึ่งในทางเลือกสำหรับการสร้างฐานการผลิตใหม่ อย่างไรก็ตาม ในการตั้งฐานการผลิตในอาเซียน บริษัทข้ามชาติต่าง ๆ มีทางเลือกที่จะตั้งฐานการผลิตในประเทศใดก็ได้ในอาเซียน ซึ่งปัจจัยที่บริษัทข้ามชาติใช้ในการเลือกฐานการผลิตใหม่คือ (1) ขนาดของตลาดในประเทศที่ลงทุน (2) การเข้าถึงตลาดในประเทศที่สาม ในกรณีที่ผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งการมีความตกลงทางการค้าในตลาดหลัก ๆ ของโลกสามารถสร้างความได้เปรียบเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนได้ (3) ต้นทุนในการผลิต ซึ่งรวมถึงต้นทุนแรงงาน จะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบปัจจัยเหล่านี้กับประเทศคู่แข่งในอาเซียน ประเทศไทยไม่สามารถแข่งขันด้านขนาดของตลาดกับประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามได้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าร่วม CPTPP และยังไม่มีความตกลงทางการค้ากับ EU แต้มต่อทางสิทธิประโยชน์จากความตกลงทางการค้าจึงไม่เท่ากับเวียดนาม ท้ายที่สุด ประเทศไทยมีค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำสูงกว่าประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และมาเลเซีย จึงไม่สามารถแข่งขันต้นทุนแรงงานได้

               ถึงแม้ว่าไทยจะไม่สามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่งในอาเซียนได้ในด้านขนาดของตลาด สิทธิประโยชน์ทางการค้า และค่าจ้างแรงงาน แต่ประเทศไทยก็ยังมีจุดแข็งอยู่ที่สิทธิประโยชน์ทางภาษีในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานที่ครบครัน และซัพพลายเชนที่ครบวงจรในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในบางประเภทสินค้า เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้มีซัพพลายเชนที่สลับซับซ้อน ไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วนยังคงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียนอยู่ ดังนั้น เมื่อเทรนด์โลกหลังโควิดทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนจากรูปแบบห่วงโซ่การผลิตที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง มาเป็นห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาคกระจายทั่วโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะได้รับเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าเพิ่มขึ้นรวมประมาณ 1,100 – 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงปี 2564-2566 หรือเพิ่มขึ้นเพียง 0.7-0.8% เมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าของไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561-2563) โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อยอดที่ไทยมีซัพพลายเชนครบวงจรอยู่แล้ว

               ในระยะยาว ประเทศไทยยังต้องเผชิญความท้าทายในการรักษาเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากกระแส Diversification จะทำให้มีฐานการผลิตในภูมิภาคต่าง ๆ เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติถูกกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ไทยอาจได้รับเม็ดเงินลงทุนในการผลิตสินค้ากระแสหลักลดลงในอนาคต นอกจากนี้ กระแส Reshoring หรือกระแสเข้าของเทคโนโลยีขั้นสูงย้ายโรงงานกลับประเทศในสินค้านวัตกรรมจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆทำให้โอกาสในการดึงดูดเงินลงทุนต่างชาตในเทคโนโลยีขั้นสูงจะน้อยลงตามลำดับ ดังนั้น ทางออกที่ยั่งยืนในการพัฒนาประเทศไทยคือการมีเทคโนโลยีขั้นสูงเป็นของตัวเอง พัฒนาความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และยกระดับศักยภาพของประชากรไทยในอนาคต​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม