Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤษภาคม 2562

เกษตรกรรม

ภัยแล้งปี 2562 ยังส่งสัญญาณแล้งต่อเนื่อง...คาดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจเพิ่มราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2991)

คะแนนเฉลี่ย

​        จากสัญญาณภัยแล้งในปี 2562 ที่มีความเป็นไปได้ว่าอาจลากยาวไปจนถึงเดือนก.ค.2562 เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิมที่ภัยแล้งน่าจะสิ้นสุดในเดือนพ.ค.2562 พิจารณาได้จากปริมาณน้ำในเขื่อนที่ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ยังมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนในระดับที่ต่ำมาก รวมถึงแนวโน้มภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย.-ก.ค.2562 ซึ่งอาจกระทบต่อพืชเกษตรที่กำลังเก็บเกี่ยวในช่วงฤดูแล้งที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดคือข้าวนาปรังและอ้อย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ราคาข้าวและอ้อยอาจขยับขึ้นต่อเนื่องได้ในช่วงภัยแล้ง แม้ว่าในแง่ของภาพรวมราคาข้าวและอ้อยเฉลี่ยทั้งปี 2562 อาจยังให้ภาพที่หดตัวอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมรายได้เกษตรกรที่เดิมก็แย่อยู่แล้วให้เผชิญความยากลำบากเพิ่มขึ้นไปอีกให้ไปหดตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.1-2.4 (YoY)

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจยาวนานขึ้นอีก 2 เดือน อาจจะยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูกาลเพาะปลูกพืชสำคัญอย่างข้าวนาปี รวมถึงระดับความรุนแรงของภัยแล้งน่าจะลดน้อยลงกว่าในช่วงรุนแรงที่สุดในเดือนมี.ค.-เม.ย. ผนวกกับฝนที่อาจมีมาบ้าง แม้ว่าจะยังเป็นภาวะฝนทิ้งช่วงในเดือนมิ.ย.-ก.ค. ทำให้ในภาพรวมแล้วสภาพอากาศต่อจากนี้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าจะนับว่ายังคงแห้งแล้ง รวมถึงแนวโน้มภัยแล้งที่อาจลดลง ท้ายสุด คาดว่า มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจอาจเพิ่มขึ้นอีกราวเดือนละ 1,000 ล้านบาท โดยหากภัยแล้งกินเวลาลากยาวไปจนถึงเดือนก.ค.2562 ก็อาจทำให้เกิดมูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมที่ราว 17,300 ล้านบาท

​​

เกษตรกรรม