ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปี 2563 จะเป็นปัจจัยระยะสั้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างราคายางพาราในระยะยาว โดยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของราคายางพาราในรูปแบบใหม่ โดยจะเป็นการเคลื่อนไหวขึ้นลงในกรอบแคบๆ บนฐานของ New Normal ซึ่งเป็นช่วงราคาใหม่ที่ต่ำกว่าเดิม และยากแก่การที่จะมีราคากลับไปสูงขึ้นได้อีกเช่นในอดีต โดยคาดว่า การเคลื่อนไหวของราคายางพาราแผ่นดิบชั้น 3 ของไทยตั้งแต่ปี 2563 บนฐาน New Normal อาจอยู่ในกรอบ 30-50 บาทต่อกิโลกรัม
ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป การเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลง นับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะในส่วนของภาครัฐ นับเป็นโจทย์ท้าทายในการประคับประคองราคายางพาราผ่านมาตรการต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยเหลือชาวสวนยางทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ส่วนเกษตรกรชาวสวนยางอาจต้องปรับตัวด้วยการปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าหรือปลูกพืชแซมในสวนยาง และควรหารายได้เสริมอื่นควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารานับเป็นสิ่งสำคัญ อันจะช่วยให้ราคายางพาราไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นในระยะยาว
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น