Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กันยายน 2563

อุตสาหกรรม

บรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจเติบโตไปแตะ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาท ในปี 2568 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3137)

คะแนนเฉลี่ย

            จากสถานการณ์วิกฤติขยะบรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวของการบริโภค อีกทั้งยังมีปัจจัยกระตุ้นจากแนวโน้มการเติบโตของอาหารสะดวกซื้อ และธุรกิจส่งอาหารที่ขยายตัวอย่างมากในช่วงมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 โดยขยะบรรจุภัณฑ์มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นขยะบรรจุภัณฑ์จากอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ยังไม่มีการคัดแยกและกำจัดอย่างเหมาะสม แสดงให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวทั้งด้านการผลิตและการจูงใจผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการสร้างการจัดการขยะหลังการบริโภคทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะมีโอกาสขยายตลาดได้เพิ่มขึ้น

        ​   ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้ว่าในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนบางส่วนลง ด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่มีราคา
ต่ำกว่าในระยะนี้ แต่มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะยังเติบโตเฉลี่ย 25% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100-2,400 ล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากปีก่อนหน้า
ที่เติบโตเกือบเท่าตัว แต่ก็ยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2563 จะเพิ่มขึ้น จากประมาณ 1% ไปอยู่ที่ 2% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม

             อย่างไรก็ดี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้ ภายใต้ปัจจัยด้านความตระหนักต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ประกอบกับเงื่อนไขสนับสนุนการผลิต เช่น มาตรการส่งสริมการลงทุน ความพร้อมด้านวัตถุดิบทดแทน รวมทั้งมาตรการภาครัฐเพื่อสร้างระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2568 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8-10% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม

​             ในขณะที่การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกซึ่งมีสัดส่วนการใช้งานมากที่สุด จะส่งผลบวกต่อตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม โดยคาดหวังจะเห็นกลไกสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายการลดขยะบรรจุภัณฑ์และสร้างแนวทางการบริโภคที่ยั่งยืน ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในตลาดโลก ทั้งด้านมาตรฐานบรรจุภัณฑ์ที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก และมุ่งไปสู่การใช้ Recycled PET Recycled PP รวมถึงการลงทุนเพื่อผลิตไบโอพลาสติก (PLA) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น  


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม