Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มกราคม 2561

เศรษฐกิจไทย

ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี’61 ทุกจังหวัด 5-22 บาท กระทบเศรษฐกิจไทยในวงจำกัด (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3722)

คะแนนเฉลี่ย


 ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 19 มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดประจำปี 2561 มาอยู่ในช่วง 308-330 บาท/วัน (เฉลี่ย 315.97 บาท/วัน) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2561 โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในปีนี้ยังเป็นการปรับขึ้นแบบไม่เท่ากันตามแต่ละพื้นที่โดยจัดกลุ่มจังหวัดแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 7 ระดับ แตกต่างจากปีก่อนที่แบ่งเป็น 4 ระดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มตัวแปรเข้ามาในสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำแบบใหม่

สำหรับผลต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยร้อยละ 2.6 ในปี 2561 จะส่งผลกระทบทางตรงต่อต้นทุนของอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นให้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.4 ของต้นทุนทั้งหมด นอกจากนี้ ธุรกิจอื่นๆ ที่แต่เดิมจ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่มากหรือพึ่งพิงแรงงานกึ่งมีฝีมือ ก็อาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมเนื่องจากจำต้องปรับเพิ่มค่าจ้างของแรงงานกึ่งมีฝีมือเพื่อรักษาระดับความต่างของค่าจ้างท่ามกลางสภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมในภาพรวมเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.3 ของต้นทุนทั้งหมด ทั้งนี้ หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถนำค่าจ้างแรงงานไปลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า ก็น่าจะช่วยบรรเทาภาระต้นทุนบางส่วนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพบางส่วนของแรงงาน รวมถึงช่วยหนุนการใช้จ่ายของครัวเรือนให้เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการของผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อประกอบกับต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนถ่ายโอนภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นผ่านทางด้านราคาสินค้าและบริการ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จะทำให้ระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคในปี 2561 เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 0.06 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ผลของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่วนหนึ่งได้ถูกรวมเข้ามาในการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2561 แล้ว) โดยต้นทุนการผลิต รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการของผู้บริโภคภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงกดดันต่อจีดีพี อย่างไรก็ตาม รายได้ของแรงงานที่เพิ่มขึ้นก็จะช่วยหนุนมูลค่าจีดีพีได้บางส่วน ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการควบคุมราคาสินค้าภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำกระทบภาพรวมเศรษฐกิจอย่างจำกัด ทั้งนี้ จากการประเมินผลกระทบต่อมูลค่าจีดีพีของไทยในปี 2561 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลต่อมูลค่าจีดีพีอย่างไม่มีนัยสำคัญ กล่าวคือ ผลสุทธิของมูลค่าจีดีพีจะลดลงเล็กน้อยราวร้อยละ 0.02 เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.0 และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 ที่ร้อยละ 1.1 ดังเดิม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย