จากสถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลาย ทำให้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ตามปกติ (On-Site) ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิดเรียนในวันที่ 17 พ.ค. 2565 และในช่วงเวลานี้ของทุกปี ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียนจะมีภาระค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ผ่านมา ราคาสินค้าหลายประเภทและพลังงานเร่งตัวสูงขึ้น ขณะที่การจ้างงานและรายได้ภาคครัวเรือนยังอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายของผู้ปกครองบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อปัจจัยเหล่านี้
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดทำการสำรวจมุมมองผลกระทบและการปรับตัวในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเปิดเทอมใหญ่ปี 2565 ของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานในวัยเรียน (ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) ท่ามกลางภาวะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น พบว่า สิ่งที่ผู้ปกครองมีกังวลมากที่สุด ณ ขณะนี้ คือ ปัญหาเรื่องของราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน และจากผลสำรวจสะท้อนว่า ผู้ปกครองกว่า 70.8% แสดงความกังวล/มีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่ด้วยการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุตรหลาน ผู้ปกครองในกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย เช่น ยืมญาติ / เพื่อน ใช้สินเชื่อจากสถาบันการเงินอย่างบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด ผู้ปกครองบางรายพี่งโรงรับจำนำ กู้นอกระบบ และผู้ปกครองบางรายเลือกที่จะขอผ่อนชำระหรือผ่อนผันกับทางโรงเรียน
สำหรับมูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2565 นี้ อาจมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มูลค่าการใช้จ่ายยังต่ำกว่าในช่วงผลสำรวจปี 2563 สำหรับค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นในปีนี้มาจากปัจจัยเฉพาะ เนื่องจากในปีนี้ เป็นการเปิดเรียนเต็มรูปแบบ โดยนักเรียนสามารถกลับไปเรียนที่โรงเรียนได้อีกครั้ง ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาเพิ่มขึ้น อาทิ ชุดนักเรียน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่ากิจกรรม ค่าอาหาร เป็นต้น
ทั้งนี้ มูลค่าการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมปีนี้ที่เพิ่มขึ้นข้างต้น อาจไม่ได้สะท้อนว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีทิศทางที่ดี แต่เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วง 1-2 ปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบมากจากการระบาดของโควิด รวมถึงผลด้านราคาและค่าครองชีพ ขณะที่ ผู้ปกครองจำเป็นต้องจัดสรรค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อการศึกษาของบุตรหลาน โดยอาจพิจารณาเลือกตัดลดหรือประหยัดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก้อนอื่นๆ ควบคู่กับการหาแหล่งรายได้อื่นเข้ามาเพิ่มทดแทน
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น