• ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ปรับตัวลดลงจากระดับ 46.0 ในเดือนธ.ค. 2561 มาอยู่ที่ระดับ 45.5 ในเดือนม.ค. 2562 เนื่องมาจากครัวเรือนไทยบางส่วนมีรายได้ลดลงโดยเปรียบเทียบ หลังผลของปัจจัยชั่วคราวอย่างมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยโดยการสนับสนุนค่าใช้จ่าย 500 บาท/คน ในช่วงปลายปี 2561 หมดลง ประกอบกับเพิ่งผ่านพ้นช่วงเดือนสิ้นปีที่ครัวเรือนบางส่วนได้รับเงินโบนัส หรือได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวลดลงยังเป็นปัจจัยที่กดดันรายได้ครัวเรือนเกษตร
• ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนช่วงอีก 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.9 ในเดือนม.ค. 2562 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมุมมองในปัจจุบันของครัวเรือนที่มีความกังวลมากขึ้นต่อภาวะการครองชีพของตนเอง ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. ที่มีหลายช่วงวันหยุดราชการ
• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ยังมีหลายประเด็นที่ต้องติดตามในช่วงไตรมาสที่ 1/2562 ซึ่งจะมีผลต่อการครองชีพของครัวเรือนไทย ไม่ว่าจะเป็นผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค. 2562 ซึ่งจะกำหนดทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ และประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องมายังภาคการผลิตและตลาดแรงงานในประเทศ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น