Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 ตุลาคม 2562

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไตรมาส 2/62 ทรงตัวที่ 78.7% ... แต่หนี้ยังคงโตเร็วกว่าเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย

​          ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2/2562 เติบโตในอัตราที่ชะลอลงมาที่ 5.8% YoY หลังจากที่เร่งตัวขึ้นถึง 6.3% YoY ในไตรมาสที่ 1/2562 (สูงสุดในรอบ 4 ปี) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยหลังเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือเกณฑ์ LTV เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนที่ปล่อยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินอื่นๆ) ชะลอการเติบโตลงมาที่ 6.8% YoY ไตรมาสที่ 2/2562 จากที่เร่งตัวขึ้นก่อนเกณฑ์ LTV ถึง 8.0% YoY  ในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา

            อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทย ยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล และต้องการการร่วมดูแลแก้ไขจากหลายฝ่าย โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่ง ที่ 78.7% ในไตรมาส 2/2562 เท่ากับไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา           และเป็นที่น่าสังเกตว่า หากเปรียบเทียบการเติบโตของหนี้ครัวเรือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว จะพบว่า หนี้ครัวเรือนมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา สภาวะหนี้ที่เติบโตเร็วกกว่าการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า  ประเด็นสำคัญของหนี้ครัวเรือนในเวลานี้ ก็คือ ความสามารถในการชำระคืนหนี้ ในยามที่ระดับรายได้ของครัวเรือนและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงชะลอตัว แม้ว่าที่ผ่านมา ภาระดอกเบี้ยจ่ายของสินเชื่อบางส่วน ได้ปรับตัวลงมาตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงินแล้วก็ตาม

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับทบทวนกรอบประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2562 ขึ้นมาที่ 78.5-79.5% (จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี) เนื่องจากข้อจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี อย่างไรก็ดี ประเมินว่า มาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่ ธปท. ทยอยประกาศใช้และเตรียมที่จะดำเนินการเพิ่มเติม น่าจะมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงเชิงระบบของระบบการเงินไทย ขณะที่การวางแนวทางให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อรายย่อย โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ และสถานะทางการเงินหลังผ่อนชำระหนี้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวด้วยอีกทางหนึ่ง



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม