สถานการณ์ฝุ่นละอองในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของผู้คนไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล แต่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 จากนั้นสถานการณ์ก็คลี่คลายไป จนกระทั่งช่วงปลายปี 2561 ถึงปัจจุบัน ปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน[1]ได้กลับมารุนแรงและเกิดเป็นระยะเวลาที่นานและถี่ขึ้น เมื่อประกอบกับกระแสโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญที่ต้องติดตามและควรที่จะมีการประเมินผลกระทบในมิติต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ยาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงพยายามประเมินบนสมมติฐานหลายประการเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นก่อน
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานในกรุงเทพฯและปริมณฑล อาจแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ
- ค่าเสียโอกาสจากประเด็นสุขภาพ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองไปกระตุ้นให้เกิดอาการเจ็บป่วยสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้/ระบบทางเดินหายใจ จนต้องไปพบแพทย์หรือเข้ารับการรักษาพยาบาล รวมไปถึงเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้บริโภคต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาสวมใส่เพื่อดูแลป้องกันสุขภาพ ทั้งนี้ แม้ค่าใช้จ่ายดังกล่าว จะถูกส่งผ่านไปยังภาคธุรกิจ แต่ก็ถือเป็นค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นเพราะผู้บริโภคไม่สามารถนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการอื่น
- ค่าเสียโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่สถานการณ์ฝุ่นละอองทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวจากเดิมที่มีแผนจะเดินทางมายังกรุงเทพฯ ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นของไทย โดยในกรณีนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ แต่หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายในเวลาอันรวดเร็ว อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวที่สามารถปรับแผนการเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศอื่นแทน ในกรณีหลังนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของไทย ทั้งนี้ กรุงเทพฯ นับเป็นหนึ่งในเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของไทย ซึ่งมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านคนต่อเดือน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องเป็นมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อเดือน
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลทางเศรษฐกิจจากปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพฯและปริมณฑล จากค่าเสียโอกาสในประเด็นสุขภาพและด้านการท่องเที่ยว ในเบื้องต้นอาจคิดเป็นเม็ดเงินอย่างน้อย 2,600 ล้านบาท โดยกรอบเวลาที่ใช้ในการคำนวณคือไม่เกิน 1 เดือนซึ่งเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561 การประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจข้างต้น เป็นการประมาณการในเบื้องต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ขนาดของผลกระทบทั้งหมดที่แท้จริง คงจะยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้านระยะเวลาและความรุนแรงของปัญหา รวมถึงแนวทางการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาด้วย ซึ่งภาครัฐก็ได้มีการดำเนินการเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว แต่ระยะยาวการจัดการกับปัญหาฝุ่นละอองคงจะเป็นโจทย์ท้าทายที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันทั้งการศึกษาหาสาเหตุและการวางแนวทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
[1] ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) เกินค่ามาตรฐาน (50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร) ซึ่งเป็นระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (ที่มา: กรมควบคุมมลพิษ)
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น