Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 เมษายน 2561

สถาบันการเงิน

สินเชื่อสุทธิเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ภาพรวมในไตรมาสแรกขยายตัวดีตามคาด (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3738)

คะแนนเฉลี่ย

             สถานการณ์สินเชื่อในเดือน มี.ค. 2561 ขยายตัวแผ่วลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.9 หมื่นล้านบาท เป็น 11.07 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.17% MoM อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสินเชื่อทั้งไตรมาสแรกยังโตได้ดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แม้ว่าในช่วงต้นไตรมาสจะมีผลกระทบของการชำระคืนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีการใช้จ่ายสูงในช่วงท้ายปีก็ตาม ทั้งนี้ สินเชื่อหลักที่เพิ่มขึ้นในไตรมาสนี้ ส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อภาคธุรกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ขณะที่สินเชื่อเอสเอ็มอีปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

             ด้านภาพรวมเงินฝากเดือน มี.ค. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.8 หมื่นล้านบาท หรือ 0.47% MoM เป็น 12.24 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนและสิ้นปีก่อน 6.42% และ 1.17% ตามลำดับ โดยโตสูงกว่าเงินให้สินเชื่อ ซึ่งสะท้อนภาพการจัดการสภาพคล่องในช่วงที่ต้นทุนเงินฝากยังไม่ขยับขึ้น เพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อและดำเนินธุรกิจในระยะต่อไป ขณะที่มีการทยอยลดสัดส่วนเงินกู้ยืม (Borrowing) ที่มีต้นทุนสูงลงเป็นลำดับ เพื่อบริหารจัดการต้นทุนการเงินรวม ทั้งนี้ ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลงเล็กน้อยในไตรมาสแรก โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) อยู่ที่ 85.77% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 22.25%

               สินเชื่อในไตรมาสแรกปีนี้ที่ยังขยายตัวดีเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน (+4.59% YoY) เป็นฐานสำหรับต่อยอดการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาสที่ 2 ให้เข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดไว้ที่ 4.6% ได้ไม่ยาก ท่ามกลางการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวมของไทย ​​​และเศรษฐกิจโลกที่หนุนให้มีเม็ดเงินรายได้เพิ่มขึ้นจากการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งคงทยอยส่งผลบวกให้ภาคธุรกิจยังมีความต้องการเงินทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาพรวมเงินรับฝากในไตรมาสแรกปีนี้ ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือกว่าการให้สินเชื่อของธนาคารนั้น ส่วนหนึ่งน่าจะสะท้อนภาพการจัดการส​ภาพคล่อง (ในช่วงที่ต้นทุนเงินฝากยังไม่ขยับขึ้น) ขณะที่ปัจจัยท้าทายในไตรมาสที่ 2/2561 ยังต้องติดตามสัญญาณที่สะท้อนแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทย (สอดคล้องกับการขยับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ) อันอาจมีผลต่อผลิตภัณฑ์เงินฝากที่จะออกใหม่ให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังมีประเด็นในเรื่องการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในไตรมาสที่ 2 นี้ อันอาจส่งผลต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยของธนาคารในระยะต่อไป ​


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน