ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์มือสองในระบบธนาคารพาณิชย์ปี 2565 มีโอกาสขยายตัวเป็นบวกที่ 5-7% จากฐานสินเชื่อประมาณ 3 แสนล้านบาท ด้วยปัจจัยสนับสนุนด้านราคาดังสะท้อนจากดัชนีราคารถยนต์มือสอง และการแข่งขันของธนาคารที่เพิ่มขึ้นเพื่อขยายพอร์ตสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนดี ขณะที่คาดว่ายอดขายรถยนต์มือสองในปีนี้อาจเติบโตประมาณ 3-5% หรือคิดเป็นยอดขายประมาณ 6-7 แสนคัน เนื่องจากอุปทานรถที่เข้าสู่ตลาดชะลอตัวลงตามแนวโน้มการลดลงของอัตราการขายทอดตลาดรถในระบบสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มหนี้เสียหรือ NPL ในปี 2565 ว่าจะเร่งตัวขึ้นเพียงใด หลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ทยอยสิ้นสุดลงในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระค่างวด 1-2 เดือน (Special Mention Loan: SM หรือหนี้จัดชั้นในกลุ่มที่ 2 ตาม TFRS9) ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ถึง 12% ของยอดสินเชื่อ ที่อาจไหลมาเป็นหนี้เสียเพิ่มเติม ภายใต้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อและค่าครองชีพสูงตั้งแต่ต้นปีที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสามารถในการผ่อนชำระหนี้ รวมทั้งมีผลต่อนโยบายการให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มรถยนต์มือสองที่คงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้อย่างรอบคอบ
สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 จากแรงผลักดันด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดล่าสุดสู่ระดับ 0.75% และเงินเฟ้อไทยที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้เริ่มเห็นการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยเฉพาะจากกลุ่มนอนแบงก์ และเน้นการปรับในกลุ่มเสี่ยงมากกว่า อาทิ รถที่มีอายุมาก รถแบรนด์รอง/ไม่อยู่ในความนิยมของตลาด เนื่องจากต้นทุนทางการเงินของกลุ่มนอนแบงก์ปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าและเร็วกว่าต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ โดยคาดว่าแนวโน้มการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถด้วยกลไกราคาหรืออัตราดอกเบี้ยต่ำน่าจะเกิดขึ้นน้อยลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเช่าซื้อรถเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ตลอดสัญญา ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นอย่างชัดเจน อาจกระทบต่อผลตอบแทนที่ได้รับในระยะยาว ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้เดิมที่ทำไว้ต่ำด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่ต้องติดตาม ผลสรุปการแก้ไขปรับปรุงหลักเกณฑ์การให้เช่าซื้อของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการคืนรถจบหนี้ และส่วนลดดอกเบี้ยจากการปิดสัญญาก่อนกำหนด ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการไม่ได้รับผลตอบแทนตามความคาดหมาย และทำให้ธนาคารและบริษัทที่ให้สินเชื่อเช่าซื้ออาจต้องกำหนดแนวนโยบายเครดิตที่รัดกุมขึ้น อาทิ ปรับเพิ่มอัตราการวางเงินดาวน์ขั้นต่ำ ซึ่งคงมีผลกระทบต่อการขยายสินเชื่อต่อไป
สถานการณ์เศรษฐกิจและรายได้ของครัวเรือนโดยรวมในปี 2565 อาจผ่านช่วงระยะต่ำสุดมาแล้ว และมีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมีผลกระทบต่ออำนาจซื้อของครัวเรือน โดยลดทอนความสามารถในการซื้อรถมือหนึ่ง และทำให้ความต้องการรถมือสองเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ธนาคารพาณิชย์ให้ความสนใจเข้าสู่ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อรถมือสองเพิ่มขึ้น เป็นประโยชน์ต่อผู้กู้ยืมที่มีโอกาสได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง อย่างไรก็ดี ด้วยทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ผู้ซื้อรถมือสองในกลุ่มตลาดล่าง และใช้บริการสินเชื่อเช่าซื้อจากบริษัท Non-Bank คงมีภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน การเตรียมออกประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ของ สคบ. อาจมีส่วนช่วยควบคุมเพดานดอกเบี้ยได้ระดับหนึ่ง แต่คงต้องติดตามผลกระทบอื่นจากแนวทางการให้สินเชื่อของผู้ให้บริการที่อาจต้องปรับตัวเข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมความเสี่ยงของธุรกิจ
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น