ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศ “ปรับปรุงเกณฑ์เพื่อเอื้อให้เงินทุนไหลออกและลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท”
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา
ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงไปที่
1.25% โดยอาจนับได้ว่าการดำเนินการทั้ง 2
ส่วนพร้อมกันดังกล่าวมีผลต่อจังหวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทซึ่งเริ่มขยับอ่อนค่าเล็กน้อย
การปรับเกณฑ์สนับสนุนให้เงินทุนไหลออกของธปท.
รอบนี้ เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นที่ธปท.
ได้ประกาศใช้เมื่อเดือนก.ค. 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการในรอบนั้นมีความเกี่ยวข้องกับการลดเกณฑ์ยอดคงค้าง
ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident:
NR) และการยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ
ในขณะที่การปรับปรุงเกณฑ์ 4 เรื่องหลักที่กำลังจะมีผลภายในวันที่ 8 พ.ย. 2562 นี้
จะมีความเกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก นักลงทุน และประชาชนทั่วไป ได้แก่ 1. การยกเว้นการนำรายได้จากการส่งออกกลับประเทศ
2. การผ่อนคลายเงื่อนไขการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ 3. การผ่อนคลายการโอนเงินออกนอกประเทศ
และ 4. การอนุญาตให้ลูกค้าคนไทยที่ลงทุนซื้อขายทองคำกับบริษัทผู้ค้าทองคำที่ได้รับอนุญาตจากธปท.
ชำระราคาเป็นเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD ได้
ทั้งนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การผ่อนเกณฑ์เงินทุนขาออกให้มีความเสรีมากขึ้นในครั้งนี้
อาจช่วยสร้างสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ในบางส่วน ผ่านการชะลอแรงซื้อเงินบาท
(ชะลอแรงขายเงินดอลลาร์ฯ)
ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาทของผู้ส่งออกและผู้ค้าทองคำ
และการกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์ฯ (ขายเงินบาท)
ตามธุรกรรมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศของนักลงทุนไทย
หรือการโอนเงินออกนอกประเทศของคนไทย
โดยสรุปแล้ว มาตรการดูแลค่าเงินบาทล่าสุดของ ธปท.
เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากมาตรการอื่นๆ ที่ได้ทำมาก่อนหน้านี้
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางเงินบาทในช่วงข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธปท.
น่าจะยังคงมีเครื่องมือและมาตรการที่จะเข้าไปดูแลเสถียรภาพของเงินบาทได้เพิ่มเติมหากมีความจำเป็น
ซึ่งเมื่อประกอบกับมุมมองในเชิงบวกที่เพิ่มมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้เชื่อว่า
เงินบาทน่าจะมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในช่วงข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น