Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤษภาคม 2561

สถาบันการเงิน

สินเชื่อสุทธิเดือน เม.ย. 2561 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามการเพิ่มของสินเชื่อธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3744)

คะแนนเฉลี่ย

​​          ​ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเดือน เม.ย. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 6.78 หมื่นล้านบาท เป็น 11.14 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.61% MoM ทำให้อัตราเพิ่มเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนทยอยไต่ระดับขึ้นเป็น 4.81%YoY ซึ่งสอดคล้องกับที่คาดไว้ว่าแรงส่งสินเชื่อจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในเดือนนี้ค่อนข้างกระจายตัวไปแทบทุกธนาคาร ส่วนใหญ่เพิ่มจากสินเชื่อภาคธุรกิจ และสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน  ขณะที่เงินฝากเดือน เม.ย. 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน โดยเพิ่มจากเดือนก่อน 1.21 แสนล้านบาท หรือ 0.99% MoM เป็น 12.36 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 6.28%YoY โดยหลักมาจากธนาคารขนาดใหญ่ ซึ่งส่วนมากเป็นธุรกรรมในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ตามปกติ และบางส่วนมาจากการออกเงินฝากพิเศษเพื่อระดมทุนระยะกลาง ส่งผลให้สภาพคล่องของธนาคารผ่อนคลายลง โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากที่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) อยู่ที่ 85.51% และอัตราส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 22.45% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่อยู่ในระดับ 85.77% และ 22.25% ตามลำดับ

โดยเฉพาะจากแรงส่งเศรษฐกิจหลักในภาคการส่งออกที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งและนำไปสู่การปรับเพิ่มมุมมองเชิงบวกต่อการคาดการณ์จีดีพีปีนี้  ประกอบกับการประกาศ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี ที่จะมีส่วนหนุนความต้องการของสินเชื่อภาคธุรกิจให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เป็นสินเชื่อหลักที่นำการเติบโตมาโดยตลอดอยู่แล้ว สำหรับสินเชื่อรายย่อยที่ฟื้นตัวดีขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยด้านผลของฐานที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับความต้องการสินเชื่อใหม่จากการซื้อสินทรัพย์คงทนทั้งรถยนต์และที่อยู่อาศัยที่สร้างเสร็จใหม่พร้อมโอน นอกจากนี้ ยังมีการกลับมารุกขยายตลาดสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้านในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ตลอดจนการจัดแคมเปญแข่งขันในตลาดสินเชื่อบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับฯ) เพื่อขยายฐานลูกค้ารายใหม่และกระตุ้นการใช้วงเงินของลูกค้ารายเดิม อย่างไรก็ดี ด้วยปัจจัยด้านฐานที่สูงในช่วงท้ายปีที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงเป้าการเติบโตของสินเชื่อปีนี้ที่ 4.8%

เริ่มมีสัญญาณการออกแคมเปญเงินฝากประจำอัตราดอกเบี้ยพิเศษในระยะที่ยาวขึ้น จากเดิมที่นิยมออกแคมเปญระยะไม่เกิน 12 เดือน เป็นระยะ 14 เดือน และ 15 เดือน เพื่อรองรับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศ นอกจากนี้ สัดส่วนเงินฝากกระแสรายวันและออมทรัพย์ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางบริหารจัดการต้นทุนเงินฝากของธนาคาร ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำหลังหักภาษี มีส่วนต่างจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่มาก ทั้งนี้ ธนาคารยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนควบคู่กับการดูแลสภาพคล่องให้เพียงพอได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะมีส่วนช่วยประคองรายได้จากส่วนต่างดอกเบี้ยได้ ท่ามกลางแรงกดดันต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ในไตรมาสนี้  


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม