Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 กรกฎาคม 2562

สถาบันการเงิน

สินเชื่อสุทธิขยับขึ้นเล็กน้อยในเดือนมิ.ย. 62 หลังแรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อย ชะลอลง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3810)

คะแนนเฉลี่ย

           แรงหนุนจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยหลายประเภท ชะลอลงต่อเนื่องในเดือน มิ.ย. 2562 ประกอบกับสินเชื่อเอสเอ็มอีที่ยังไม่ฟื้นตัว ส่งผลให้ภาพรวมสินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 1.07 หมื่นล้านบาท หรือ 0.09% MoM ทำให้อัตราเพิ่มสินเชื่อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขยายตัวในอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบประมาณ 1 ปีครึ่ง ที่ระดับ 3.88% YoY อย่างไรก็ดี หากเทียบกับสิ้นปีก่อน สินเชื่อขยายตัวดีขึ้นเป็นใกล้ 1.0% YTD

            ด้านเงินฝากในเดือน มิ.ย. 2562 ปรับลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนอีก 6.2 หมื่นล้านบาท หรือ -0.49% MoM โดยเป็นผลจากการครบกำหนดของเงินฝากพิเศษที่มีดอกเบี้ยสูงในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่บางแห่ง และการบริหารภาพรวมทิศทางเงินฝากให้สอดคล้องกับขนาดของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารบางแห่ง ทำให้อัตราการเติบโตของเงินฝากรวมชะลอลงมาที่ 3.0% YoY  ซึ่งนับเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2560

            ​สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing) ณ มิ.ย. 2562 ขยับขึ้นสู่ระดับ 92.60% จากระดับ 92.36% ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนการบริหารจัดการความสามารถในการทำกำไรและดูแลประเด็นด้านต้นทุน ท่ามกลางการระดมสภาพคล่องผ่านช่องทางที่หลากหลาย ทั้งเงินฝากและการออกหุ้นกู้ เพื่อทำให้สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม ยังคงอยู่ที่ระดับไม่สูงไปกว่าระดับ ณ สิ้นปี 2561 ที่ 92.71%  

            ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารพาณิชย์น่าจะบริหารจัดการช่วงเวลาการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากให้มีเทอมและรูปแบบที่เหมาะสมกับแรงส่งการฟื้นตัวของสินเชื่อ และการทยอยครบกำหนดของเงินฝากในช่วงครึ่งหลังของปี เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสภาพคล่องและต้นทุนทางการเงินของธนาคารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อในปี 2562 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ จะขยายตัว 4.5% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 5.7% ในปี 2561 เนื่องจากการเบิกใช้สินเชื่อในช่วงครึ่งปีแรกยังฟื้นตัวไม่มาก โดยเฉพาะในกลุ่มสินเชื่อภาคธุรกิจ สำหรับสินเชื่อรายย่อยที่เติบโตดีในช่วงครึ่งแรกของปีนั้น คาดว่า คงชะลอลงในช่วงครึ่งปีหลัง เนื่องจากปัจจัยพิเศษที่สนับสนุนการเร่งตัวของสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทยอยลดลง อย่างไรก็ดี การเติบโตในอัตราที่ชะลอลงของสินเชื่อดังกล่าว ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับข้อจำกัดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน