เศรษฐกิจไทยปี
2563 เผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบที่สูงมาก
เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ซึ่งยังส่อเค้าความรุนแรงและกระจายเป็นวงกว้างมากขึ้นทั่วโลก
โดยแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในจีนจะเริ่มชะลอตัว
แต่จำนวนผู้ติดเชื้อนอกจีนกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจโลก
รวมถึงเศรษฐกิจไทย เผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้น
โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลงอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้
ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะหดตัวทางเทคนิคจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
2 ไตรมาสติดต่อกัน อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อไปเกินครึ่งปีแรก
ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยปี 2563
อาจเติบโตในอัตราติดลบก็จะมีเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอน
ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแรงลงอย่างรุนแรง
ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุม กนง. ในวันที่ 25 มีนาคมนี้ คณะกรรมการฯ จะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5% จากระดับปัจจุบันที่ 1.0% มาอยู่ที่ 0.5% ทั้งนี้ เมื่อมองไปข้างหน้า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจลากยาวไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2563 ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความเสี่ยงเชิงลบมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น กนง. จึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน
ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ย 0.5% ในคราวเดียวในการประชุม กนง. ในวันที่
25 มีนาคมนี้
น่าจะเป็นการตอบสนองในเบื้องต้นที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ณ ขณะนี้ ทั้งนี้
แม้ว่าการปรับลดดอกเบี้ยจะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาโดยตรง
แต่ก็จะช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาหนี้เสียที่อาจเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี การปรับลดดอกเบี้ยจำเป็นต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการการเงินและการคลังอื่นๆ
เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นวงกว้างจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งหลายมาตรการได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ
มาตรการอัดฉีดสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรวงเงิน 1 แสนล้านบาท
มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มาตรการพักเงินต้น-ลดดอกเบี้ย
มาตรการทางภาษีเพื่อลดภาระผู้ประกอบการ เป็นต้น อย่างไรก็ดี
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง
โดยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดแย่ลงและยืดเยื้อไปกว่าครึ่งปีแรกของปีนี้ กนง.
อาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลงอีกในระยะข้างหน้า รวมถึงอาจจำเป็นต้องออกมาตรการใหม่ๆ
เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องนอกเหนือจากการลดดอกเบี้ย
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น