Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤศจิกายน 2563

สถาบันการเงิน

คาดประชุมกนง.18 พ.ย. 63 คงดอกเบี้ยที่ 0.50%...รอประเมินความต่อเนื่องของสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3895)

คะแนนเฉลี่ย

​            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คณะกรรมการฯ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ตามเดิมเนื่องจากทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยข้อมูลจีดีพีประจำไตรมาสที่ 3/2563 หดตัวลง 6.4% YoY เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวลง 12.1% YoY ในไตรมาสที่ 2/2563 ขณะที่หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออก เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2563 พลิกกลับมาขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นสัญญาณที่ตอกย้ำว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 มาแล้ว  ดังนั้นประเมินว่า กนง. จะยังไม่พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเพิ่มเติมในการประชุมรอบนี้ แต่จะเร่งเดินหน้ามาตรการอื่นที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาทิ มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านสินเชื่อเพื่อช่วยสนับสนุนสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ และช่วยเสริมกลไกการทำงานของมาตรการกระตุ้นด้านการคลังได้

            อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กนง. จะต้องให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ดีมองว่า มาตรการที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยน่าจะช่วยดูแลประเด็นการแข็งค่าของเงินบาทได้ตรงจุดกว่า ทั้งนี้สัญญาณจากงานประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุด (14 ต.ค.) สะท้อนว่า ธปท. ตระหนักถึงแรงกดดันด้านแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยง และอยู่ระหว่างเตรียมหลายมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงจะดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาทเพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งกนง. สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมได้หากจำเป็น แม้ในกรณีพื้นฐาน กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า แต่คงต้องยอมรับว่า การดูแลให้เศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจะยังเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายค่อนข้างมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของหลายปัจจัย อาทิ การระบาดซ้ำของโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ สถานการณ์ทางการเมืองของไทย ตลอดจนประสิทธิผลและความเพียงพอของมาตรการด้านเศรษฐกิจที่ออกไป โดยหากเกิดสถานการณ์ที่พลิกผันจนมีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ความจำเป็นของการผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมก็จะมีมากขึ้น


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน