Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มิถุนายน 2561

สถาบันการเงิน

P2P Lending ..โอกาสที่ดีของผู้กู้รายย่อย ขณะที่ หัวใจของแพลตฟอร์ม อยู่ที่ระบบจัดการความเสี่ยง (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2917)

คะแนนเฉลี่ย

             แพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending (P2P Lending) ในไทย 4-5 รายที่เริ่มเปิดให้บริการ (ในวงจำกัด) ย้ำภาพในทิศทางที่มุ่งเจาะกลุ่มผู้กู้รายย่อย โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งคงช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กลุ่มดังกล่าวได้ ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ถูกลง เนื่องจากต้นทุนในบางกระบวนการปล่อยกู้ที่อาจลดลงได้จากการดำเนินธุรกิจอยู่บนระบบดิจิทัล อีกทั้งแพลตฟอร์มบางแห่ง ยังได้ออกแบบให้มีกลไกการแข่งขันด้านราคาเพิ่มเติมในระดับนักลงทุน ผ่านกระบวนการประมูลลูกหนี้ออนไลน์ในอีกขั้นหนึ่ง นอกจากนี้ เงื่อนไขการขอกู้ผ่านแพลตฟอร์มยังผ่อนคลายลง ทั้งในมิติหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมิติของระยะเวลาดำเนินการของธุรกิจด้วยเช่นกัน (เมื่อเทียบกับการขอสินเชื่อไม่มีหลักประกันของสถาบันการเงิน)

               ขณะที่ หัวใจสู่ความสำเร็จของ P2P Lending ยังเป็นเรื่องการจัดการความเสี่ยงที่ดีพอตลอดกระบวนการปล่อยกู้ของแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นระบบ Credit Scoring และบริการติดตามทวงหนี้ ซึ่งยังต้องผ่านอีกหลายบททดสอบจากวัฏจักรเศรษฐกิจและธุรกิจ ตลอดจนบทพิสูจน์ถึงเสถียรภาพของแพลตฟอร์ม เมื่อฐานลูกค้าขยายใหญ่ขึ้น โดยกระบวนการเหล่านี้ จะมีผลต่อการตัดสินของนักลงทุน ซึ่งเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ทั้งหมด รวมทั้งค่าใช้จ่ายในกระบวนการทวงถามหนี้ อันแตกต่างไปจากผู้ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ ที่จะได้รับเงินฝากตามระยะเวลาและเงื่อนไขที่กำหนด

              ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ยอดเงินปล่อยกู้สำหรับสินเชื่อธุรกิจผ่านแพลตฟอร์มในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ราว 1,000-1,500 ล้านบาท ซึ่งถ้าเทียบกับปริมาณสินเชื่อเอสเอ็มอีของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทย แม้จะคิดเป็นเพียงสัดส่วนราว 0.03% เท่านั้น แต่ก็นับว่า สามารถช่วยเติมช่องว่างบริการทางการเงินที่เคยมีได้บางส่วนในระหว่างรอการประกาศเกณฑ์กำกับจาก ธปท. และก.ล.ต. เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อเกณฑ์ดังกล่าวออกมา ประกอบกับระบบจัดการด้านเครดิตของแพลตฟอร์มได้รับการพัฒนามาระยะหนึ่ง ก็คาดว่า คงจะเห็นทิศทางอนาคต P2P Lending ในไทยที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในมิติของฐานลูกค้าที่น่าจะกว้างขึ้น​



ดูรายละเอียดฉบับเต็ม