Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กรกฎาคม 2562

สถาบันการเงิน

ธปท. ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น ลดช่องทางพักเงิน ชะลอการแข็งค่าของเงินบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3007)

คะแนนเฉลี่ย

​             ​ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาตรการเพื่อเฝ้าระวังเงินทุนไหลเข้าระยะสั้นในวันที่ 12 ก.ค. 2562 ซึ่งนับเป็น “มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท" ที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ได้มีการส่งสัญญาณ/ท่าทีที่เป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงก่อนหน้านี้  โดยรายละเอียดของมาตรการครั้งนี้ มีประเด็นที่สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ 1. การปรับปรุงหลักเกณฑ์มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท ในส่วนของมาตรการดูแลบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (non-resident: NR) โดยธปท. ปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้าง ณ สิ้นวันของบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทของ NR ลงมาที่ 200 ล้านบาทต่อราย จาก 300 ล้านบาทต่อราย ทั้งบัญชี NRBA  ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไป อาทิ เพื่อชำระค่าสินค้า/บริการ และบัญชี NRBS  ซึ่งเป็นบัญชีเงินบาทของ NR เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์และตราสารทางการเงินอื่นๆ  และ 2. การยกระดับความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งจะต้องมีการรายงานลึกขึ้นถึงระดับชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริง

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธปท. ประกาศมาตรการข้างต้นออกมา น่าจะมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมรับมือกับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีโอกาสไหลเข้ามาลงทุนในตลาดการเงินไทยมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ส่งสัญญาณที่สะท้อนโอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในการประชุม FOMC ในช่วงสิ้นเดือนก.ค. 2562 นี้เป็นอย่างเร็ว นอกจากนี้ การปรับลดเกณฑ์ยอดคงค้างบัญชี NRBA และ NRBS ดังกล่าว ยังเป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของธปท. ที่ต้องการเลือกใช้มาตรการที่มุ่งเป้าหมายเฉพาะจุดเพื่อวัตถุประสงค์ในการสกัดเงินระยะสั้นอีกครั้ง เนื่องจากการลดยอดคงค้าง ณ สิ้นวันในบัญชีเงินฝากในรูปเงินบาทของ NR  เสมือนเป็นการลดช่องทางการพักเงินของนักลงทุนต่างชาติ และเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับการลดปริมาณการออกพันธบัตรระยะสั้นของธปท. ก่อนหน้านี้

            อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อาจต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อติดตามประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงที่เงินดอลลาร์ฯ กลับมาอ่อนค่าลงจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ยังคงเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยในช่วงหลังจากนี้ และหากสถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในระดับที่ผิดปกติ คาดว่า ธปท. ก็อาจจะกลับมาประเมินความจำเป็นของการปรับใช้มาตรการ/เครื่องมืออื่นเพิ่มเติมอีกในระยะต่อๆ ไป โดยคงต้องยอมรับว่าแต่ละเครื่องมือต่างก็มีเงื่อนไขและผลกระทบต่อตลาดในระดับที่แตกต่างกัน 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน