Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 พฤศจิกายน 2562

สถาบันการเงิน

เศรษฐกิจชะลอ ผลตอบแทนต่ำ สร้างแรงจูงใจให้คนมีพฤติกรรม Search for Yield เพิ่มขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3054)

คะแนนเฉลี่ย
  • ​​​ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณชะลอตัวในหลายภาคส่วน กนง. ได้มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้จาก 1.50% มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปีในการประชุมวันที่ 6 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา โดยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ส่งผ่านผลต่อเนื่องมายังอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินอื่น ๆ ซึ่งในภาวะดังกล่าวอาจทำให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง (Search for Yield) ที่มีมาอยู่เดิมเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมสัญญาณบางส่วนที่อาจสะท้อนถึงการปรับเปลี่ยนช่องทางการลงทุนของนักลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา อาทิ นักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มียอดการถือครองหุ้นกู้ขยับขึ้นไปเกิน 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของยอดคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด ขณะที่จำนวนกองทุนรวมที่มีระดับความเสี่ยงสูงกว่ากองทุนรวมตราสารหนี้มีจำนวนกองเพิ่มขึ้น และเงินออมของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า พฤติกรรมการลงทุนที่แสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) เป็นหนึ่งในโจทย์ด้านเสถียรภาพที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินอื่นๆ เน้นย้ำถึงความสำคัญ และทำการติดตามสถานการณ์เพื่อประเมินสัญญาณความเสี่ยงในหลายๆ มิติ ทั้งช่องทางการออม/การลงทุนในระบบที่มีหน่วยงานของทางการกำกับดูแล และแหล่งการลงทุนอื่นๆ นอกระบบที่การกำกับดูแลยังครอบคลุมไปไม่ถึงอย่างเต็มที่ อาทิ แชร์ลูกโซ่ การชักชวนให้ลงทุนในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินดิจิทัลที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ ทั้งนี้เพื่อจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือน ตลอดจนระบบการเงินไทยในภาพรวม
  • และเมื่อมองไปข้างหน้า กรอบการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดของเศรษฐกิจไทย อาจทำให้ผลตอบแทนจากช่องทางการออมผ่านการฝากเงินและการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ จะยังคงอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง และอาจผลักดันให้ผู้ออม/นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูง เพื่อชดเชยหรือเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน ดังนั้น ความสำคัญของเรื่องนี้จึงยังคงอยู่ที่การสร้างภูมิคุ้มกัน และให้ความรู้ทางการเงินกับประชาชน เนื่องจากความเสี่ยงจากการลงทุนอาจเกิดขึ้นได้จากปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค และจากปัจจัยเสี่ยงเฉพาะที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนในสินทรัพย์บางตัว ทั้งนี้เพื่อให้นักลงทุนมีความตระหนักและรู้จักข้อจำกัดในการแบกรับความเสี่ยงจากการลงทุนของตัวเอง และมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน ตลอดจนมีข้อมูลที่เหมาะสมเพียงพอเกี่ยวกับผลตอบแทนและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุน


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน