Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 มกราคม 2563

สถาบันการเงิน

หนี้ครัวเรือนปี 2563 อาจสูงเกิน 80% ต่อจีดีพี ติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนหลายกลุ่ม (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3073)

คะแนนเฉลี่ย

​            ​หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวยังคงเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเนื่อง และมีผลทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นมาที่ 79.1% ต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 3 ปี ทั้งนี้สัญญาณหนี้ครัวเรือนสูงจากข้อมูลระดับภาพรวมทั้งประเทศ สอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินและเงินออมของครัวเรือนปี 2562 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งพบว่า 44% ของผู้กู้-ครัวเรือนที่มีหนี้ มีภาระหนี้หรือเป็นหนี้เพิ่มขึ้น 

            ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากผลสำรวจสถานการณ์หนี้สินฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยรอบนี้ พบว่า ผู้กู้-ครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นหนี้หลายประเภทพร้อมๆ กัน ซึ่งโดยมากจะมีภาระผ่อนชำระหนี้กับสถาบันการเงินประมาณ 2-3 ก้อนในเวลาเดียวกัน (ซึ่งต่างจากผลสำรวจฯ รอบก่อนที่ส่วนใหญ่จะมีภาระผ่อนหนี้ 1-2 ก้อนในเวลาเดียวกัน) โดยนอกจากหนี้บัตรเครดิตแล้ว ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะมาจากหนี้ผ่อนรถยนต์ ผ่อนสินเชื่อส่วนบุคคล และผ่อนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ตามลำดับ นอกจากนี้ ผลสำรวจฯ ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังพบว่า ผู้กู้-ครัวเรือนหลายกลุ่มมีภาระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio: DSR) สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม GenY และกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนที่มีสัดส่วน DSR อยู่ที่ 42.0% และ 42.7% ตามลำดับ (สูงกว่า DSR ในภาพรวมผลสำรวจฯ ที่ 39.4%) สัญญาณดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลภาพรวมในระดับประเทศ ซึ่งสะท้อนว่า ผู้กู้-ครัวเรือนกลุ่มนี้ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายและการก่อหนี้เพิ่มเติม     

            สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2563 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า หนี้ครัวเรือนอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่จะเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนขยับขึ้นไปอยู่ในกรอบประมาณ 80.0-81.5% ต่อจีดีพีในปี 2563  ขณะที่ประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้ คงเป็นแนวทางการเข้าดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นโจทย์ท้าทายในภาวะที่เศรษฐกิจยังชะลอตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การทำความเข้าใจปัญหาหนี้ครัวเรือนจากข้อมูลภาพรวม อาจทำให้ยังไม่สามารถวางแนวทางการแก้ไขปัญหาได้อย่างสมบูรณ์ เพราะสาเหตุและปัญหาที่แท้จริงในการเป็นหนี้และความสามารถในการชำระคืนหนี้ของแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกัน และภาพการเป็นหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่มอาจยังไม่สะท้อนผ่านฐานข้อมูลที่มีในระบบ  โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้จร-ไม่มีงานประจำ ตลอดจนผู้กู้ที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ ซึ่งอาจจะยังเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินในระบบ


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน