Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 กันยายน 2563

สถาบันการเงิน

เบี้ยประกันชีวิตปี 2563: หดตัวลงลึกต่อเนื่องจากปีก่อน ธุรกิจประกันเร่งปรับตัว ลดทุนประกันแผนหลัก เพิ่มทุนประกันสุขภาพ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3143)

คะแนนเฉลี่ย

                ประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมา โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 นี้ ภาพรวมเบี้ยประกันชีวิตหดตัวลง -3.6% YoY เป็น 3.29 แสนล้านบาท และคาดว่าแนวโน้มเบี้ยประกันชีวิตในปีนี้จะหดตัวลงติดต่อกันเป็นปีที่สองในกรอบ -2% ถึง -6% เป็น 5.74-5.99 แสนล้านบาท จากปี 2562 ที่หดตัวลง -2.6% YoY ด้วยเบี้ยรับรวม 6.11 แสนล้านบาท เนื่องจากเบี้ยรับรายใหม่มีความเสี่ยงที่จะหดตัวต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ -10% ถึง -15% แม้ว่าเบี้ยปีต่ออายุน่าจะมีสัญญาณฟื้นตัวขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้หลังปรับฐานลงแรงในปีก่อนก็ตาม

                ปัจจัยลบจากเศรษฐกิจที่ลดทอนอำนาจซื้อ และความน่าสนใจในการซื้อประกันเพื่อออมที่ลดลงตามอัตราผลตอบแทนของผลิตภัณฑ์ประกันหลักลงมาเหลือเพียงเฉลี่ย 1% เศษในปีนี้ จะยังเป็นโจทย์หลักที่จำกัดโอกาสการฟื้นตัวของธุรกิจประกันในระยะต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับบน และกลุ่มลูกค้าระดับกลางบางส่วนที่ถูกกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ทำให้บริษัทต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงลูกค้าให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเห็นแนวโน้มการปรับลดขนาดทุนประกันของแผนประกันชีวิตสัญญาหลักให้เล็กลง เพื่อลดอัตราค่าเบี้ยประกันรายปีให้สอดคล้องกับอำนาจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งคงส่งผลย้อนกลับมาลดทอนโอกาสการเติบโตของธุรกิจในแง่ปริมาณเบี้ย

                  ​อย่างไรก็ดี ความตื่นตัวในการซื้อประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 ประกอบกับปัจจัยบวกจากการเพิ่มค่าลดหย่อนภาษีสำหรับการซื้อประกันสุขภาพเป็น 25,000 บาทต่อปี และการเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Aged Society) ของประเทศไทยในปีหน้า มีส่วนสนับสนุนให้เบี้ยประกันสุขภาพน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/2563 แต่ภาพรวมทั้งปีอาจยังโตในกรอบจำกัด ตราบใดที่ประกันสุขภาพยังผูกกับสัญญาหลักที่การซื้อสัญญาใหม่มีข้อจำกัดจากปัญหาอำนาจซื้อ โดยในช่วงครึ่งปีแรกเบี้ยประกันสุขภาพโตชะลอลงมาที่ระดับ 7% YoY จากเฉลี่ย 15% ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา (2553-2562) จึงต้องติดตามประเด็นข้อเรียกร้องของบริษัทประกันชีวิตที่ขออนุมัติให้สามารถขายประกันสุขภาพเดี่ยวได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสัญญาหลัก เช่นเดียวกับการขายประกันสุขภาพของบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งหากได้รับอนุญาตน่าจะช่วยทลายข้อจำกัดของการทำประกันชีวิตสัญญาหลักที่มีความน่าสนใจลดลง

             ​   นอกจากนี้ บริษัทประกันชีวิตยังมีโจทย์ในการปรับปรุงช่องทางขายและบริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น เพื่อรองรับกระบวนการทำงานใหม่และวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด ซึ่งมีผลกระตุ้นช่องทางขายหลักเดิมทั้งตัวแทนและแบงก์แอสชัวรันส์ รวมทั้งเป็นโอกาสของนายหน้ารายใหม่ที่เน้นเข้าถึงลูกค้าบนโลกออนไลน์เป็นหลัก อาทิ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ร้านสะดวกซื้อ จุดบริการเติมเงิน และเครือข่ายโทรคมนาคม ท่ามกลางความท้าทายในการขยายธุรกิจประกันชีวิตภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่คงทรงตัวต่ำต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 1-2 ปีข้างหน้า


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน