Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 กรกฎาคม 2565

Econ Digest

จีน-รัสเซีย ผลักดันใช้สกุลเงินท้องถิ่นแทนดอลลาร์สหรัฐฯ

คะแนนเฉลี่ย

​BRICS เป็นการร่วมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีนและแอฟริกาใต้ ในรูปแบบที่ไม่ใช่ FTA จึงไม่มีข้อผูกมัดในด้านการเปิดตลาดการค้าและการลงทุน ในปัจจุบันกรอบความร่วมมือในลักษณะนี้มีหลายกลุ่ม ซึ่งล้วนเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศทั้งสิ้น นำโดยสหรัฐฯ ได้ผลักดันกลุ่มเศรษฐกิจต่างๆ ขึ้นมาในการสร้างพันธมิตรด้านความมั่นคงทางทหาร ทางเทคโนโลยีอย่างกลุ่ม QUAD (Quadrilateral Security Dialogue) และกลุ่ม AUKUS (Australia, United Kingdom, United States) รวมถึงล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค.2565 ริเริ่มกลุ่ม IPEF (Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity) ที่เน้นไปทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก

ในบรรดากลุ่มเศรษฐกิจดังกล่าว IPEF มีความน่าสนใจหลายด้านทั้งมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่คิดเป็น 39.5% ของโลก ใหญ่กว่ากรอบความตกลง RCEP ที่เป็น FTA ใหญ่ที่สุดในโลกเวลานี้ มีบทบาททางการค้ากับโลกด้วยสัดส่วน 28% ใกล้เคียงกับ RCEP ขณะที่การค้าระหว่างประเทศสมาชิก (Intra-regional trade) กลุ่ม IPEF ก็พึ่งพาการค้าภายในสมาชิกถึงร้อยละ 33.7% ต่างจากกลุ่มอื่นๆ ที่แม้จะมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในโลกใกล้เคียงกันแต่การค้าภายในกลุ่มมีไม่มากโดย BRICS มีสัดส่วน 13.7% QUAD ที่ร้อยละ 12% และ AUKUS อยู่ที่ 5.3%

สำหรับการประชุมประจำปีของกลุ่ม BRICS เมื่อวันที่ 23-24 มิ.ย.2565 มีหัวข้อหลักที่น่าสนใจคือการผลักดันการใช้สกุลเงินท้องถิ่นแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่นำโดนจีนและรัสเซีย นับเป็นมิติใหม่ของการประชุมประจำปีที่ส่วนใหญ่เน้นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนเป็นหลัก โดยแนวคิดด้านการชำระเงินดังกล่าวล้วนเป็นผลต่อเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้นานาชาติมีมาตรการคว่ำบาตรตัดรัสเซียออกจากระบบการเงิน SWIFT ซึ่งน่าจะมีผลต่อเนื่องเป็นเวลานาน ดังนั้น หัวข้อเรื่องการชำระเงินจึงกลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมกลุ่ม BRICS ในครั้งนี้

การชำระเงินระหว่างประเทศกลายมาเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องจับตาอาจมีพัฒนาการที่น่าสนใจขึ้นอีกหลังจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาระบบการชำระการชำระเงินของรัสเซีย (Sistema Peredachi Finansovykh Soobscheniy: SPFS) มีการใช้งานจำกัดอยู่ในกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) ยุโรปบางประเทศ จีนและอินเดีย โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ของรัสเซียเป็นหลัก ขณะที่สกุลเงินรูเบิ้ลก็มีสัดส่วนการใช้งานที่ไม่แพร่หลายนักโดยมีสัดส่วนเพียง 0.21% อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลกเท่านั้น ซึ่งทุกวันนี้กลุกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังเป็นสกุลเงินหลักในโลกด้วยสัดส่วน 40.51% ตามมาด้วยยูโร 36.65% ปอนด์ 5.89% (ข้อมูลจาก SWIFT ในปี 2564) สำหรับสกุลเงินของประเทศสมาชิก BRICS มีเพียงสกุลเงินหยวนของจีนที่ค่อนข้างโดดเด่นอยู่อันดับที่ 4 สัดส่วนที่ 2.7% จากแรงผลัดดันของทางการจีนมากว่าทศวรรษประกอบกับโครงการ BRI (Belt and Road Initiative) มีส่วนช่วยให้การใช้เงินหยวนแพร่หลาย สกุลเงินแรนด์ของแอฟริกาใต้อยู่ในอันดับที่ 17 มีสัดส่วนที่ 0.28% อย่างไรก็ดี ในระยะข้างหน้าจะเห็นคู่ค้ารัสเซียหันมาใช้เงินรูเบิ้ลในการชำระค่าสินค้ารัสเซียมากขึ้น ล่าสุดอียิปต์-รัสเซียทำความตกลงในการใช้สกุลเงินท้องถิ่นชำระค่าสินค้าระห:ว่างกัน (ปอนด์อียิปต์-รูเบิ้ลรัสเซีย) แก้ปัญหาการชำระเงินด้วยดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอียิปต์พึ่งพาข้าวสาลีจากรัสเซียอย่างมาก โดยเป็นผู้นำเข้าข้าวสาลีรายใหญ่ที่สุดในโลก

จะเห็นได้ว่าประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ขับเคลื่อนทิศทางของแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจ อาทิ กลุ่ม IPEF ที่ไทยได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในสมาชิกหากมีแผนงานใดๆ ออกมาเป็นรูปธรรมก็น่าจะส่งผลดีให้ไทยสามารถร่วมเติบโตไปพร้อมกลุ่มนี้ที่เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยที่มีสัดส่วนถึง 52.9% ขณะที่การรวมตัวของกลุ่มอื่นเป็นแบบไม่มีเงื่อนไขและไทยไม่ได้เป็นสมาชิกจึงไม่ส่งผลให้ภาพการทำธุรกิจระหว่างไทยกับแต่ละกลุ่มเปลี่ยนภาพไปจากที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามความเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มเศรษฐกิจซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการวางกลุยทธ์ธุรกิจในแต่ละพื้นที่ของโลก ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เข้มข้นขึ้น




 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest