Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤศจิกายน 2564

Econ Digest

EU เดินหน้า…สานต่อเจตนา COP26 ออกกฎหมายต่อต้านสินค้าที่เกี่ยวกับการทำลายป่า

คะแนนเฉลี่ย
​การประชุม COP26 แม้ว่าจะได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แต่นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่หลายประเทศได้ร่วมแสดงจุดยืนในการลดก๊าซเรือนกระจกและแก้ไขปัญหาภาวะโลกรวนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในเรื่องของการอนุรักษ์ป่าไม้ และการใช้พื้นที่อย่างยั่งยืน ที่มีผู้นำกว่า 140 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการอย่างจริง โดยล่าสุด คณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่เพื่อสนับสนุนการลดการทำลายป่าไม้และส่งเสริมการบริโภคสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า (deforestation-free Products)1  ไปเมื่อ 17 พ.ย. 64 ที่ผ่านมา
กฎหมายดังกล่าว จะเริ่มบังคับใช้กับบริษัทในสหภาพยุโรป (EU) 27 ประเทศ ที่มีการใช้หรือนำเข้าสินค้าที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำลายพื้นที่ป่าไม้ตามหลักฐานอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ สินค้าประเภท เนื้อวัว ไม้ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง กาแฟ โกโก้ รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปบางประเภท อาทิ เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ และชอกโกแลต โดยกฎหมายจะบังคับให้บริษัทที่มีการใช้หรือนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะต้องสามารถระบุแหล่งที่มาของสินค้าได้อย่างชัดเจนและจะต้องเป็นการผลิตอย่างถูกต้องตามกฎหมายของประเทศนั้น ๆ ซึ่งทาง EU จะมีการตรวจสอบควบคู่กับการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อยืนยันว่าผลผลิตที่ใช้หรือนำเข้ามานั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้หรือไม่ โดยจะเริ่มพิจารณาสินค้าที่ผลิตตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค. 63 เป็นต้นไป  ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้ในปี 2566 โดยทาง EU จะมีระยะเวลาปรับตัวสำหรับบริษัทขนาดใหญ่ เป็นเวลา 1 ปี และบริษัทเล็กเป็นเวลา 2 ปี ในการเตรียมการ2  ซึ่ง EU คาดว่าร่างกฎหมายนี้จะช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าและลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละอย่างน้อย 31.9 ล้านเมตริกตัน 
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กฎหมายดังกล่าว จะไม่กระทบต่อภาพรวมการส่งออกของไทยไปยัง EU3 มากนัก เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าตามที่ระบุในร่างกฎหมายข้างต้นของไทย คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.36 ของการส่งออกสินค้าไปยัง EU   อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการส่งออกไทย โดยเฉพาะผู้ส่งออกสินค้าไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้ และสินค้าเครื่องหนัง ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกไปยัง EU รวมในปี 2563 กว่า 2,680 ล้านบาท จะต้องเตรียมปรับตัวรับมาตรฐานใหม่ในการจัดทำระบบยืนยันแหล่งที่มาของสินค้า (traceability) ให้ชัดเจน จากเดิมที่ EU และสหรัฐอเมริกา มีนโยบายการทำ Traceability ในภาคสินค้าเกษตรและอาหารไปแล้วก่อนหน้านี้





---------------------------------------------------------------------------------------
 1 https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/qanda_21_5919
 2  https://www.reuters.com/business/environment/eu-commission-proposes-imports-curbs-goods-linked-deforestation-2021-11-17/ 
 3 ข้อมูลสถิติจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์   



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest