Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 กันยายน 2563

Econ Digest

มาตรฐานฟาร์มไก่ไข่...ไร้กรง Cage Free ไก่...Happy ไข่...Quality คนก็...Healthy

คะแนนเฉลี่ย

​               ​การบริโภคที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) กำลังถูกพูดถึงอย่างมากในแวดวงธุรกิจอาหาร ทั้งนี้ ไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "Cage Free Egg” คือ หนึ่งผลิตภัณฑ์ที่กรมปศุสัตว์ของไทยเตรียมกำหนดมาตรฐานรับรองต่อยอดจากมาตรฐานการผลิตอื่นๆ เพื่อสร้างทางเลือกด้านคุณภาพสินค้าให้กับผู้บริโภคในขณะเดียวกัน ก็เป็นแนวทางยกระดับการผลิตสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ของไทยให้เท่าทันกับกระแสการบริโภคที่ตระหนักถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการร่างข้อกำหนดมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เลี้ยงปล่อยอิสระในโรงเรือนระบบปิด (Cage Free)

 

                 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ไข่ไก่กลุ่ม Cage Free Egg เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น จากกลุ่มผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพและแหล่งที่มาของสินค้าที่ปลอดภัยและรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งพร้อมจะเต็มใจจ่ายสูง หากมองในภาพกว้างระดับโลกจะพบว่า นโยบายของหลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีอัตราการบริโภคไข่ไก่ต่อคนสูง มีกฎหมายระบุห้ามเลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ เนื่องจากคำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์เป็นปัจจัยหลัก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีผลต่อระดับคุณภาพของไข่ไก่และความปลอดภัยจากการปนเปื้อนจากระบบการเลี้ยงที่สูงกว่าการเลี้ยงไก่ไข่ประเภทอื่นๆ บ่งชี้ให้เห็นว่า ไข่ไก่ที่ได้จากระบบการเลี้ยงแบบกรงตับน่าจะมีแนวโน้มลดลง และผลักดันให้ความต้องการไข่ไก่ที่มาจากระบบการเลี้ยงอื่นๆ ที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไข่ไก่อินทรีย์ กลุ่ม Free Range Egg รวมถึง Cage Free Egg มีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมีแรงผลักดันจากฝั่งผู้บริโภคเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของตลาด สะท้อนจากมูลค่าตลาดของไข่ไก่ Cage Free Egg ของโลก ที่ถูกประเมินว่า ในปี 2562 จะมีมูลค่าตลาด 4.98 ล้านดอลลาร์ และสามารถเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ 4.75 ต่อปีในช่วงปี 2563-2568

               ทั้งนี้ แม้ว่า Cage Free Egg ในไทยจะเป็นสินค้าที่ออกสู่ตลาดมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งเป็นสินค้าทางเลือกในกลุ่มไข่พรีเมียม (High end) เจาะกลุ่มเป้าหมายคือตลาดผู้บริโภคระดับบนในประเทศ[1] โดยมีผู้ผลิตรายสำคัญคือ ผู้ประกอบการไข่ไก่ครบวงจร แต่อย่างไรก็ดี ยังไม่มีมาตรฐานรับรองการผลิตในประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ในขณะที่มาตรฐานการรับรอง Cage Free Egg ในต่างประเทศที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ส่วนใหญ่มักจะมีข้อกำหนดที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการผลิต เช่น ข้อกำหนดความหนาแน่นของจำนวนไก่ต่อพื้นที่ อาทิ American Humane Association (พื้นที่ 1.25 ตร.ฟ./ไก่ 1ตัว) United Egg Producers Certified (พื้นที่ 1.00 ตร.ฟ./ไก่ 1ตัว) เป็นต้น

              ดังนั้น หากมาตรฐานรับรองมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่แบบไม่ใช้กรง (Cage Free) ดังกล่าวถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ นอกเหนือจากจะส่งผลเชิงบวกต่อผู้บริโภคแล้ว ในมุมมองทางธุรกิจ น่าจะส่งผลเชิงบวกต่อผู้ประกอบการที่ผลิตไข่ไก่โดยระบบนี้ ซึ่งรวมถึงกลุ่มเกษตรกรสมัยใหม่ เนื่องจากมีมาตรฐานรับรองที่ชัดเจน ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้คาดว่า ผู้ประกอบการในธุรกิจไข่ไก่ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภคระดับบน มีแนวโน้มจะเพิ่มกำลังการผลิตไข่ไก่ประเภทนี้มากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าไข่ไก่ในระบบโรงเรือนปิดทั่วไป[2] แต่ก็ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ช่วยจูงใจให้ผู้ประกอบการในธุรกิจไข่ไก่ พยายามยกระดับการพัฒนาระบบการเลี้ยงไก่ไข่จากระบบกรงตับ ไปสู่ระบบที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากการปรับระบบการเลี้ยงไปสู่ระบบการเลี้ยงแบบไม่ขังกรง (Cage Free) หลักๆ จะได้แก่ การปรับความหนาแน่นของไก่ภายในโรงเรือน การห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนการปรับไปสู่ระบบการเลี้ยงอื่นๆ อาทิ การเลี้ยงแบบอินทรีย์ หรือปล่อยอิสระ Free Range Egg อาจจะมีเงื่อนไขเพิ่มเติมอีก เช่น เรื่องอาหาร การปรับพื้นที่นอกโรงเรือน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงกว่าโดยเปรียบเทียบ อนึ่ง หากประเมินจากไก่ไข่ทั้งระบบ สัดส่วนไข่ไก่จากระบบการเลี้ยงแบบที่ไม่ใช่กรงตับในปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ราวร้อยละ 10 แต่น่าจะเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง

                   ขณะที่มองไปข้างหน้า ความต้องการ Cage Free Egg น่าจะขยายตัว จากเดิมที่จำกัดอยู่เพียงกลุ่มธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจอาหารเครือข่าย (Food Chain Restaurant) ไปสู่กลุ่มลูกค้าปลายน้ำใหม่ที่จะให้การตอบรับสินค้าประเภทนี้มากขึ้น อาทิ ธุรกิจอาหารพร้อมทาน/อาหารสำเร็จรูป-แปรรูป ร้านอาหารระดับพรีเมียม โรงพยาบาลและโรงแรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มุ่งให้ความสำคัญกับนโยบายจัดหาจัดซื้อสินค้าอย่างมีความรับผิดชอบ เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์เชิงบวกในสายตาผู้บริโภค นอกจากนี้ ยังเป็นการตอบสนองผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสินค้าสุขภาพที่มีคุณภาพสูง เช่น ผู้รักสุขภาพ ผู้ออกกำลังกาย เด็ก-ผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วย รวมถึงนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีศักยภาพของธุรกิจ



​​

[1] ร้อยละ 96 ของปริมาณผลผลิตไข่ของไทยเป็นการผลิตเพื่อบริโภคในประเทศ ที่เหลืออีกร้อยละ 4 เป็นการส่งออกไปยังต่างประเทศ

[2] ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ในระบบโรงเรือนปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 2.56 บาท/ฟอง (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2562)




Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest