Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 ธันวาคม 2564

Econ Digest

Carbon Credit ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ระดับโลก สร้างโอกาสการซื้อขายในทางธุรกิจ

คะแนนเฉลี่ย

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้จัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศด้วยความสมัครใจ โดย อบก. จะให้การรับรองปริมาณการลดหรือดูดซับก๊าซเรือนกระจก (Carbon Credit) ผ่านโครงการด้าน (1) การพัฒนาพลังงานทดแทน (2) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน (3) การจัดการของเสีย (4) การจัดการในภาคขนส่ง (5) การเกษตร (6) การปลูกป่า/ต้นไม้ (7) การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า1  ซึ่งเจ้าของโครงการสามารถนำ Carbon Credit ที่ผ่านการรับรองดังกล่าวไปใช้ในการรายงานผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนขององค์กร หรือใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting) ซึ่ง carbon credit ที่เหลือ ยังสามารถนำไปขายให้แก่ผู้ที่ต้องการ carbon credit เพิ่มได้
ณ กันยายน 2564 ไทยมีการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกไปแล้วทั้งสิ้น 14.4 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า จากจำนวน 80 โครงการที่ทำการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Offsetting)2  และมี Carbon Credit ที่เหลือซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ จำนวน 5.5 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า โดยส่วนใหญ่อยู่ในโครงการประเภทการจัดการของเสีย 78.4% และการพัฒนาพลังงานทดแทน 19.1% อย่างไรก็ดี ไทยมีสัดส่วน Carbon Credit ที่เหลือต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองที่ค่อนข้างต่ำเพียง 37.9% 
ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลกที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 52.2% ทั้งนี้ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว สัดส่วนของไทยสูงกว่ามาเลเซีย (0.8%) แต่น้อยกว่าประเทศฟิลิปปินส์ (54.5%) เวียดนาม (56.4%) และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่มีสัดส่วนดังกล่าวสูงกว่า 60%3  สะท้อนว่าไทยอาจมีการซื้อหรือชดเชย Carbon Credit ของโครงการตนเองไปแล้วค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงที่ปริมาณ Carbon Credit สำรองจะไม่เพียงพอในการชดเชยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาสัดส่วนปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองต่อปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซียนที่ 0.45%4  พบว่ายังคงต่ำกว่าสัดส่วนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอาเซียนเมื่อเทียบกับทั้งโลกที่ 1% ซึ่งอาจหมายความว่าปริมาณ carbon credit สำรองที่เหลืออยู่เป็นสัดส่วนสูงนั้น อาจไม่สะท้อนความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งที่เกิดขึ้นในอดีต และอาจยังคงไม่เพียงพอสำหรับอนาคต 
ทั้งนี้ การซื้อขาย carbon credit ในตลาดซื้อขาย carbon credit แบบสมัครใจทั่วโลกในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีจำนวน 239.3 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่า 748.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายในภูมิภาคเอเชียจำนวน 91.8 ล้านตัน ตามด้วยภูมิภาคละตินอเมริกาและคาริบเบียน และแอฟริกา จำนวน 36.6 และ 23.9 ล้านตัน ตามลำดับ5 ขณะที่ข้อมูลการซื้อขาย Carbon Credit ของไทยภายใต้โครงการ T-VER6  ตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2557 ยังคงมีปริมาณการซื้อขายที่ค่อนข้างต่ำ เพียง 0.76 ล้านตัน CO2 เทียบเท่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 22 ล้านบาท 
อย่างไรก็ดี การซื้อขาย carbon credit ของไทย ผ่านโครงการ T-VER ยังคงเน้นการซื้อขายภายในประเทศเท่านั้น โดย อบก. ได้ดำเนินการรับประกันความน่าเชื่อถือของ carbon credit ของโครงการ T-VER ตามมาตรฐาน ISO 14064-2 และ ISO 14064-37  ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลว่าด้วยหลักการ และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ทั้งนี้ อบก. อยู่ระหว่างการพัฒนาแพลตฟอร์มหลักของประเทศสำหรับการซื้อขาย carbon credit (Thailand Carbon Credit Exchange Platform) โดยได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างระบบนิเวศน์สำหรับการใช้กลไกราคา นำไปสู่การลดต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศโดยรวมให้ต่ำที่สุด และมุ่งพัฒนาไปสู่การซื้อขายในระดับสากลต่อไปในอนาคต 
ดังนั้น ถึงแม้ว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นโครงการแบบสมัครใจ และยังคงดำเนินการซื้อขาย carbon credit ได้ในวงจำกัด แต่ก็ถือเป็นโอกาสของธุรกิจในการปรับตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อลดความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน หากมีการบังคับใช้มาตรการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก 


-----------------------------------------------------------------------------------
 1 ต้องเป็นกิจกรรมที่ยังไม่เริ่มดำเนินการ หรือเริ่มดำเนินการและก่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี สามารถตรวจสอบรายละเอียดหลักเกณฑ์ ขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ และระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจกได้ทางเว็ปไซต์กลไกลดก๊าซเรือนกระจก อบก. (http://ghgreduction.tgo.or.th/th/other-rule/tver-criteria-for-registration.html)
 2 ข้อมูลจาก Voluntary Registry Offsets Database, Berkeley Carbon Trading Project, University of California, Berkeley, คำนวณโดยผู้วิจัย (https://gspp.berkeley.edu/faculty-and-impact/centers/cepp/projects/berkeley-carbon-trading-project/offsets-database)
 3 สิงคโปร์ 63.7%, อินโดนีเซีย 68.2%, ลาว 71.3%, เมียนมาร์ 78.6% โดยส่วนใหญ่จะมี carbon credit เหลือจากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด จากพลังน้ำและพลังลม รวมถึงโครงการฟื้นฟูป่าไม้เป็นหลัก 
 4 ข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก Our World In Data สะสมตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 - 2020, คำนวณโดยผู้วิจัย
 5 State of the Voluntary Carbon Markets 2021, Installment 1., Ecosystem Marketplace, a Forest trend Initiative (https://www.forest-trends.org/publications/state-of-the-voluntary-carbon-markets-2021/)
 6 http://ghgreduction.tgo.or.th/th/t-ver.html
 7 หลักเกณฑ์ ขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ และระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก, กลไกลดก๊าซเรือนกระจก อบก. (http://ghgreduction.tgo.or.th/th/other-rule/tver-criteria-for-registration.html)


​​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest