ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่สำคัญ ได้แก่ การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 (The 15th meeting of the Conference of the Parties to the UN Convention on Biological Diversity: COP15) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยมีผู้แทนจากประเทศภาคีสมาชิก 196 ประเทศเข้าร่วมการประชุมที่เน้นความสำคัญกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์พบว่าในปัจจุบันพืชและสัตว์หลากหลายสายพันธุ์มีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ถึงกว่า 80% โดยการประชุมจะเน้นจุดยืน1 ในเรื่องของ (1) การอนุรักษ์และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่เปราะบาง การบริหารจัดการระบบนิเวศวิทยาที่เชื่อมโยงกันและมีประสิทธิภาพ รวมถึง การฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งทางบก ทางน้ำและทางทะเล และการลดความสูญเสียทางชีวภาพจากมลพิษต่างๆ (2) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เช่น ลดการใช้ยาฆ่าแมลงในการทำการเกษตร ลดการตัดไม้ทำลายป่า ส่งเสริมธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (3) การแบ่งปันผลประโยชน์จากการจากการใช้ทรัพยากรทางพันธุกรรม (genetic resources) อย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการจัดทำ Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework เพื่อวางแผน
กลยุทธ์และติดตามการดำเนินการร่วมกัน โดยมีการวางเป้าหมายที่จะอนุรักษ์คุ้มครองและฟื้นฟูพื้นที่ทางบก/ลุ่มน้ำและทางทะเล อย่างน้อย 30% ภายในปี 20302 (30 by 30) และปรับปรุงเป้าหมายย่อยในการคุ้มครองเป็น 23 เป้าหมายจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2010 จำนวน 20 เป้าหมาย (Aichi Biodiversity Targets) ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้บรรลุข้อตกลงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินสำหรับการอนุรักษ์ธรรมชาติจากภาครัฐและเอกชนไว้ที่ปีละ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยประเทศพัฒนาแล้ว จะให้เงินสนับสนุนเริ่มต้น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2025 และเพิ่มเป็น 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกปีไปจนถึงปี 2030 นอกจากนี้ ยังมีการเจรจาให้ลดเงินสนับสนุนแก่ธุรกิจที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติรวมกันอย่างน้อยปีละ 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายปี 2030 โดยองค์กร Business for Nature ได้ประมาณการจำนวนเงินที่ทั่วโลกให้การสนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง 1.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล การเกษตร การจัดการน้ำ ป่าไม้ การก่อสร้าง การขนส่ง และการประมง3
ที่ประชุมยังได้มีการเสนอให้รัฐบาลของแต่ละประเทศสนับสนุนให้ภาคธุรกิจจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอีกด้วย โดยในช่วงกลางปีที่ผ่านมา สถาบันการเงิน ภาคเอกชน และรัฐบาลในหลายประเทศได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม Taskforce on Nature-related Financial Disclosures (TNFD)4 ขึ้น เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจมีการบริหารความเสี่ยงและจัดทำรายงานที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงผลกระทบด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเพิ่มเติมจากการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการจัดตั้งกลุ่ม TNFD จะคล้ายกับการร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม Taskforce on Climate-related Financial Disclosure (TCFD) เมื่อปี 2015 ที่ปัจจุบันการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐาน TCFD ได้เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกยอมรับและมีการใช้เป็นบรรทัดฐานอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในภาคการเงิน
ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม เริ่มเป็นที่สนใจของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดย Morningstar5 ได้ศึกษานโยบายการลงทุนของผู้บริหารสินทรัพย์จากทั่วโลก พบว่า 13 จาก 25 ของผู้จัดการกองทุนรายใหญ่ มีการจัดทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ และเริ่มมีการจัดตั้งกองทุนสำหรับลงทุนที่มีเป้าหมายเจาะจงเพื่อลงทุนในธุรกิจส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปและอเมริการวมจำนวน 14 กองทุน โดยมีมูลค่ารวมที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ยังคงน้อยมากหากเทียบเคียงกับกองทุนที่ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ climate funds ที่มีอยู่ถึง 1140 กองทุน มูลค่ารวมกว่า 350 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
แน่นอนว่า ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมจะเริ่มมีผลกระทบต่อการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น หากธุรกิจมีการเตรียมตัวที่ดี ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ก็จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขันและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
1 https://ec.europa.eu/commission/presscorner/detail/en/ip_22_7538
https://chinadialogue.net/en/nature/11873-explainer-cop15-the-biggest-biodiversity-conference-in-a-decade/
https://chm-thai.onep.go.th/?p=6804
2 https://www.reuters.com/business/environment/cop15-president-says-global-nature-deal-passed-despite-congo-objection-2022-12-19/
3 https://www.businessfornature.org/news/subsidy-reform
4 https://tnfd.global/
5 https://www.morningstar.com/lp/cop15-biodiversity
|
Click ชมคลิป การประชุม COP15 ภารกิจปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ...ดันธุรกิจสู่ความอย่างยั่งยืน
|
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น