Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กันยายน 2563

Econ Digest

การประชุม 15-16 ก.ย. 63 คาด…เฟดคงดอกเบี้ยฯ ที่ระดับ 0.0-0.25% หลังปรับใช้เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย เพื่อคุมเงินเฟ้อให้อยู่ที่ 2%

คะแนนเฉลี่ย
​                ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 ก.ย. นี้ เนื่องจากเฟดได้ใช้เครื่องมือต่างๆ เท่าที่จำเป็นในการช่วยประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ แล้ว โดยปรับลดดอกเบี้ยที่ระดับใกล้ศูนย์ ประกอบกับดำเนินนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) อย่างต่อเนื่อง และล่าสุดเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ ปรับเปลี่ยนมาใช้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย (Average Inflation Targeting) เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน โดยเฟดไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระดับเงินเฟ้อให้อยู่ที่เป้าหมาย 2% ซึ่งเป็นการใช้มาตรการสื่อสารทิศทางดอกเบี้ยในอนาคต (Forward guidance) เพื่อปรับคาดการณ์ของประชาชนให้เป็นไปตามที่เฟดต้องการ เฟดมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำนานขึ้น แม้อาจไม่มีประสิทธิผลโดยตรงในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นการส่งสัญญาณดำเนินนโยบายผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวของสหรัฐฯ คาดว่าเฟดคงไม่ส่งสัญญาณมุมมองเศรษฐกิจที่แย่ลง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน

                จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มสูญเสียโมเมนตัมในการฟื้นตัว โดยยอดคำสั่งซื้อและยอดการผลิต ต่างเติบโตในอัตราที่ชะลอลงในเดือนสิงหาคม ขณะที่บริษัทจำนวนมาก มีการเปลี่ยนการปรับลดการจ้างงานชั่วคราว เป็นการปรับลดการจ้างงานถาวร ท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแรง แต่เฟดน่าจะยังไม่ใช้นโยบายการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (yield curve control) ขณะที่นโยบายดอกเบี้ยติดลบ ไม่ใช่ทางเลือกที่เฟดต้องการใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน  เนื่องจากนโยบายดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงิน อีกทั้งเฟดน่าจะยังคงมุ่งเน้นการคงดอกเบี้ยในระดับใกล้ศูนย์ ประกอบกับ QE  อย่างต่อเนื่อง โดยสอดประสานกับนโยบายทางการคลัง เพื่อประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ผ่านวิกฤตินี้ไปให้ได้ 

              ​สำหรับผลกระทบต่อไทย นโยบายการเงินของเฟดและธนาคารกลางหลักต่างๆ จะส่งผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ คงต้องติดตามปัจจัยอื่นๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงิน เช่น สถานการณ์การแพร่ระบาดซ้ำของโควิด-19 โดยเฉพาะช่วงเข้าใกล้ฤดูหนาว ประเด็นการเมืองในสหรัฐฯ ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ และประเด็น Brexit ที่มีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงคงต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย และสถานการณ์การเมืองไทย ที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ท่ามกลางความเสี่ยงต่างๆ ทิศทางค่าเงินบาทอาจมีความผันผวนสูงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกไทย และการดำเนินนโยบายการเงินของทางการไทยในระยะข้างหน้า



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest