Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

ไกด์ไลน์ Food Delivery

คะแนนเฉลี่ย

​ธุรกิจจัดส่งอาหารหรือ Food Delivery เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้ความนิยมและเป็นที่สนใจอย่างมากในช่วงก่อนและหลังโควิด ซึ่งมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงเงินลงทุนของผู้ประกอบการแพลตฟอร์มธุรกิจจัดส่งอาหารทั้งไทยและต่างชาติ สะท้อนให้เห็นจากจำนวนการสั่งอาหารที่คาดว่าจะขยายตัวทั้งปี 2563 สูงถึงร้อยละ 78.0 - 84.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีการขยายตัวดังกล่าวก็มีทั้งผลเชิงบวก เช่น การเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ของร้านอาหาร การสร้างรายได้ให้กับผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลเชิงลบซึ่งเกิดจากจำนวนแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายใหญ่ที่มีเพียงไม่กี่ราย ขณะที่จำนวนร้านอาหารที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวมีจำนวนมาก ประกอบกับการขาดแนวทางและกฎเกณฑ์การจัดเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขทางการค้ากับร้านอาหาร ซึ่งสร้างผลกระทบต่อโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการร้านอาหารโดยเฉพาะร้านขนาดเล็กที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด จนมีการเรียกร้องขอให้ภาครัฐเข้ามากำกับดูแลในเรื่องดังกล่าวมากขึ้น

ส่งผลให้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) ได้มีข้อสรุป ได้แก่ 1.ปรับแก้ไขคำนิยามของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารให้มีความชัดเจนมากขึ้น 2.มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยครอบคลุมไปยังประเด็นต่างๆ ดังนี้

  • การเรียกจัดเก็บส่วนแบ่งรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มเติม เช่น  ไม่ให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายการโฆษณา ค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission fees) โดยไม่มีเหตุจำเป็นหรือไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น
  • การจำกัดสิทธิทางการค้าของร้านอาหาร เช่น ห้ามบังคับให้ร้านอาหารขายอาหารได้แค่เพียงแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารเดียว (Exclusive Dealing) โดยไม่มีเหตุจำเป็น เป็นต้น
  • การใช้อำนาจต่อรองที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่ให้บังคับหรือแทรกแซงการตั้งราคา และยกเลิกสัญญากับร้านอาหารโดยไม่มีเหตุจำเป็น หรือไม่แจ้งล่วงหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน  เป็นต้น

            ซึ่งขณะนี้ไกด์ไลน์ดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) และอยู่ระหว่างการรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายต่อไป โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าแนวทางดังกล่าวน่าจะไม่ส่งผลต่อวิธีการดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร เนื่องจากผู้ประกอบการได้มีการปรับเปลี่ยนและเพิ่มความยืดหยุ่นของเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว

ประกอบกับการเข้ามาของผู้เล่นแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายใหม่ที่มีเงื่อนไขที่จูงใจ ส่งผลให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิมจำเป็นต้องปรับตัว

อย่างไรก็ดี คาดว่าการจัดทำไกด์ไลน์ดังกล่าวขึ้นมา จะช่วยยกระดับและสร้างความชัดเจนให้แก่ผู้เล่นในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหาร มิให้ถูกเอาเปรียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร และสามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรี ซึ่งก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้ง ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังคาดว่าไกด์ไลน์ดังกล่าวอาจจะขยายความครอบคลุมไปยังผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในระยะข้างหน้า อาทิ ผู้บริโภค หรือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ขน

้น

            ขณะที่ในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีต่อเนื่องไปยังปีหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจจัดส่งอาหารยังคงมีการแข่งขันที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องทั้งผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารรายเดิมและรายใหม่ที่พยายามเข้ามาแย่งกลุ่มผู้บริโภคที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งจำเป็นต้องแข่งขันกันด้วยกลยุทธ์ทางราคาและความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงเทรนด์พฤติกรรมอย่างรวดเร็ว





              

                                                                                                                                                           ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​     ​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest