Display mode (Doesn't show in master page preview)

16 มกราคม 2564

Econ Digest

นักลงทุนมือใหม่ ต้องเข้าใจ หุ้นฟรีโฟลท

คะแนนเฉลี่ย

         ช่วงนี้ผู้ที่อยู่ในแวดวงตลาดหุ้นคงได้ยินคำว่า “หุ้นฟรีโฟลทต่ำ" กันเกือบทุกวัน เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยต้องสงสัยว่า น่าจะเป็นสาเหตุทำให้ตลาดหุ้นผันผวนมากในระยะนี้ แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่นั้น เพื่อให้เข้าใจได้มากขึ้นคงต้องถอยกลับไปเริ่มทำความรู้จักกับคำว่าฟรีโฟลท (Free Float) กันก่อน  ฟรีโฟลทเป็นปริมาณหุ้นที่ถือครองโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย หรืออีกนัยหนึ่งก็คือปริมาณหุ้นที่มีอยู่ในตลาดซึ่งนักลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถเข้าถึงเพื่อทำการซื้อ-ขายได้ ดังนั้น ราคาหุ้นที่มีฟรีโฟลทต่ำ (สภาพคล่องต่ำ) จึงผันผวนกว่าหุ้นที่มีฟรีโฟลทสูง (สภาพคล่องสูง) เมื่อผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนรายใหญ่เข้าทำการซื้อ-ขายในแต่ละที

          ตามเกณฑ์ในปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย และถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว หรือแปลว่า ต้องมีจำนวนหุ้นฟรีโฟลทมากกว่า 15% ของทุนชำระแล้ว ซึ่งหากสัดส่วนฟรีโฟลทต่ำกว่าเกณฑ์นี้ ในปีแรกก็จะได้รับการแจ้งจากตลาดหลักทรัพย์ฯ  แต่หากยังคงต่ำกว่าเกณฑ์เป็นปีที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะประกาศชื่อต่อสาธารณะ และบริษัทจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีส่วนเพิ่ม และต้องส่งรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขฟรีโฟลททุกๆ 6 เดือน โดยในช่วงที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังไม่เคยเพิกถอนสถานะของ  บจ. จากกรณีที่มีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญรายย่อยไม่ถึงเกณฑ์

           ย้อนกลับมาที่ประเด็นสำคัญของตลาดหุ้นในช่วงนี้ ก็คือ ปริมาณหุ้นหรือสภาพคล่องจริงๆ ของหุ้นที่มีการซื้อ-ขายในตลาดของบางบริษัทอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ (โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยีมี) แม้จะยังมีสัดส่วนฟรีโฟลทเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของผู้ถือหุ้น/นักลงทุนรายใหญ่มีผลกระทบต่อราคาหุ้นตัวนั้น และความร้อนแรงของหุ้นบางตัวในครั้งนี้ ดูเหมือนจะทำให้ความผันผวนของตลาดหุ้นในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้นไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงต้องการที่จะรื้อเกณฑ์ที่จะใช้ดูแลหุ้นที่มีสภาพคล่องต่ำเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับนักลงทุนและตลาดในภาพรวม 

           ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเตือนนักลงทุนด้วยเครื่องหมายต่างๆ ท้ายชื่อหุ้นแต่ละตัว โดยหุ้นที่เข้าข่ายมาตรการกำกับจะมีเครื่องหมาย T ซึ่งแสดงถึงการติดแคชบาลานซ์ (Cash Balance) ของหุ้นที่มีการซื้อขายผิดปกติ โดยไล่ระดับตามความเข้มงวด ตั้งแต่ T1 T2 และ T3 และตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ส่งสัญญาณว่า หลังมีการปรับทบทวนมาตรการกำกับหุ้นที่มีสัดส่วนรายย่อยต่ำแล้ว ก็อาจจะมีการเตือนเรื่องนี้กับนักลงทุนเพิ่มเติมจากการติดแคชบาลานซ์ด้วยเช่นกัน สำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นมือใหม่แล้ว นอกเหนือไปจากการฝึกดูปัจจัยพื้นฐาน และปัจจัยทางเทคนิค ก็คงจะต้องติดตามศึกษาเกณฑ์ต่างๆ ที่กำลังจะปรับเปลี่ยนใหม่เพิ่มเติมด้วยเช่นกัน



หมายเหตุ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้นิยาม ฟรีโฟลท หมายถึง การกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย ซึ่งก็คือผู้ถือหุ้นสามัญที่ไม่มีส่วนร่วมในการบริหาร ขณะที่นักลงทุนกลุ่มที่มีส่วนร่วมในการบริหาร (Strategic Shareholders) โดยหลักๆ แล้ว ประกอบด้วย กรรมการผู้จัดการหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับบริหาร 4 รายแรก และนับรวมไปถึงผู้บริหารที่เทียบเท่ากับตำแหน่งระดับบริหารรายที่ 4 และผู้ที่เกี่ยวข้องและบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับบุคคลกลุ่มดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ยังหมายถึงผู้ที่ถือหุ้นเกินกว่า 5% ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง (แต่ยกเว้นให้กับ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน และกองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน) และผู้ถือหุ้นที่มีข้อตกลงกับบริษัทในการห้ามนำหุ้นออกขายในเวลาที่กำหนด



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest