Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2563

Econ Digest

ถึงวัคซีนกำลังจะมา...แต่โลกยังคงต้องการ ถุงมือยางทางการแพทย์ กว่า 2.35 แสนล้านชิ้น

คะแนนเฉลี่ย

​ไทยเป็นประเทศอันดับ 2 ของโลก ที่มีศักยภาพในการผลิตถุงมือยางเพื่อส่งออก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าการส่งออกถุงมือยางของไทยสูงถึง 1,725.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวกว่าร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แบ่งเป็นถุงมือที่ใช้ทางศัลยกรรมสัดส่วนร้อยละ 15 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด และถุงมืออื่นๆ (รวมถึงถุงมือตรวจโรคทั่วไป) สัดส่วนร้อยละ 85 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการถุงมือที่ใช้ในทางการแพทย์[1]มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีข่าวเชิงบวกด้านวัคซีนโควิด-19 แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความต้องการถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์น่าจะยังคงเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์โควิด-19 ที่อาจจะไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพกันอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่ประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีนป้องกันโควิด-19 การกลายพันธุ์ของโรค รวมถึงการทยอยเข้าสู่สังคมสูงอายุทั่วโลกที่ทำให้ความต้องการใช้บริการทางการแพทย์น่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จากปัจจัยดังกล่าว น่าจะผลักดันให้ความต้องการใช้ถุงมือทางการแพทย์ทั่วโลกในปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็น 235,000 ล้านชิ้น[2] จากปี 2563 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 170,000 ล้านชิ้น คำถามที่ตามมาคือ ความต้องการถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยมากน้อยแค่ไหน

หากพิจารณาศักยภาพในการแข่งขันของไทย พบว่า ปัจจุบันแม้ว่าไทยจะมีมูลค่าส่งออกถุงมือยางมากเป็นอันดับ 2 ของโลก หรือมีส่วนแบ่งตลาดกว่าร้อยละ 15 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของโลก และมีข้อได้เปรียบในเรื่องของวัตถุดิบต้นน้ำ ซึ่งเราสามารถผลิตและส่งออกยางธรรมชาติเป็นอันดับ 1 ของโลก และมาเลเซียยังพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบยางจากไทยไปผลิตถุงมือยางด้วย แต่ก็ยังมีหลายปัจจัยที่ไทยยังคงเสียเปรียบคู่แข่งที่แข็งแกร่งอันดับ 1 ของโลกอย่างมาเลเซีย ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ถุงมือยางประเภทเดียวกันกับไทย แต่มีส่วนแบ่งตลาดทิ้งห่างไทยอยู่ที่ร้อยละ 52 ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีและเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต ที่ประสิทธิภาพในการผลิตของไทยยังน้อยกว่ามาเลเซียเกือบ 3 เท่า หรือเครื่องจักรไทยสามารถผลิตได้ราว 6-7 ล้านชิ้นต่อเครื่องต่อเดือน ขณะที่มาเลเซียผลิตได้ราว 20 ล้านชิ้นต่อเครื่องต่อเดือน[3] สะท้อนถึงการประหยัดต่อขนาด รวมถึงต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัตถุดิบ เช่น ค่าพลังงาน (แก๊สหุงต้ม) ค่าแรง ค่าบริหารจัดการของไทยที่สูงกว่ามาเลเซียประมาณร้อยละ 15-20

 นอกจากนี้ ไทยยังขาดมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตถุงมือที่ใช้ทางการแพทย์อย่างจริงจังตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมปลายน้ำ เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างจริงจัง มีการพัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการจัดตั้ง Malaysian Rubber Export Council เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในการรุกตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งการมองหาตลาดให้กับผู้ผลิตไทย นับเป็นเรื่องที่สำคัญที่น่าจะช่วยจูงใจให้ผู้ผลิตมีการต่อยอดอุตสาหกรรมไปถึงปลายน้ำ ดังนั้น ท่ามกลางความต้องการถุงมือทางการแพทย์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การชิงส่วนแบ่งตลาดของไทยอาจจะเผชิญการแข่งขันกับคู่แข่งที่สำคัญอย่างมาเลเซีย รวมถึงจีนและเวียดนามที่อาจจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยในอนาคต เนื่องจากมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิต อีกทั้งผู้ประกอบการถุงมือรายใหญ่ของมาเลเซียมีแผนที่จะเข้าไปขยายการลงทุนในเวียดนามด้วย

Segment ถุงมือที่ใช้ตรวจโรคทั่วไปซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นและน่าจะแข่งขันกันรุนแรง ขณะเดียวกันก็ควรมีการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก เช่น จัดกิจกรรมเร่งรัดการลงทุน โดยเชิญนักลงทุนที่มีศักยภาพ เช่น เยอรมัน เบลเยียม มาหารือหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่นักลงทุนต้องการในการที่จะตัดสินใจมาลงทุนในไทย ซึ่งการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาตินอกจากจะมีตลาดรองรับแล้ว (ผลิตเพื่อส่งกลับไปยังกลุ่มลูกค้าหรือใช้ภายในประเทศของกลุ่มนักลงทุนต่างๆ) ก็น่าจะช่วยยกระดับคุณภาพในการผลิตถุงมือยางใน Segment ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ถุงมือที่ใช้ในการศัลยกรรม/ผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันไทยยังมีมูลค่าส่งออกสินค้ากลุ่มนี้น้อย แต่ถือเป็นกลุ่มที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added) ได้สูงกว่า Segment ถุงมือตรวจโรคทั่วไป



[1] ถุงมือยางสามารถแบ่งตาม HS-code ได้ 2 ประเภท 1) ถุงมือใช้ทางศัลยกรรม/ผ่าตัด (HS-Code 401511) และ 2) ถุงมืออื่นๆ หมายรวมถึง ถุงมือที่ใช้ตรวจโรคทั่วไป ถุงมือที่ใช้ในครัวเรือน และถุงมือที่ใช้ในอุตสาหกรรม (HS-Code 401519)

[2] อ้างอิงฐานข้อมูลจากสมาคมผู้ผลิตถุงมือยางแห่งมาเลเซีย (Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association: MARGMA) และคาดการณ์โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

[3] รายงานการศึกษาเชิงลึก เรื่อง อนาคตถุงมือยางไทยในตลาดโลก, สถาบันพลาสติก

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest