Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 สิงหาคม 2564

Econ Digest

Health Tech โอกาสทางธุรกิจ...รับเทรนด์สุขภาพและสังคมสูงวัย

คะแนนเฉลี่ย

แม้ในปี 2564 เม็ดเงินการใช้จ่ายสำหรับ Health Tech ในไทยยังมีจำนวนไม่มาก หรือ อยู่ที่ราว 300-400 ล้านบาท แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ก็ทำให้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ หรือ  Health Tech เข้ามามีบทบาทในการบริการสุขภาพเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและลดความเสี่ยง ซึ่งสอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของไทย รวมถึงกระแสใส่ใจสุขภาพเชิงป้องกันของผู้บริโภค ปัจจัยเหล่านี้น่าจะหนุนให้ตลาด Health Tech ในไทยมีแนวโน้มเติบโตอีกในระยะข้างหน้า แม้ที่ผ่านมาไทยเริ่มมีการนำ Health Tech มาใช้บ้างแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการนำมาใช้สำหรับภาคธุรกิจ หรือ  B2B ผ่านสถานพยาบาลรายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากมีศักยภาพและความพร้อมในการลงทุน โดยจะเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น ระบบนัดหมายเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน ระบบปรึกษาแพทย์ทางไกลและหุ่นยนต์บริการดูแลผู้ป่วย 

สำหรับการใช้งานในรูปแบบ B2C หรือ การใช้งานของผู้บริโภคโดยตรง  พบว่า กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานอายุ 30-39 ปี ที่ใช้งานแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนหรือสมาร์ทวอช เช่น แอปพลิเคชันออกกำลังกาย การตรวจวัดสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการให้บริการที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับฟังก์ชันการใช้งาน โดยในช่วงโควิดมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการติดตามข้อมูลการแพร่ระบาด ประเมินอาการเบื้องต้น รวมถึงการลงทะเบียนรับวัคซีน ซึ่งนับเป็นการสร้างความคุ้นเคยในการใช้งาน Health Tech มากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ใน 3-5 ปีข้างหน้า ตลาด Health Tech ในไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ในแง่ของผู้ใช้บริการทั้ง B2B ที่ครอบคลุมไปยังกลุ่มธุรกิจ Non-hospital เช่น Nursing Home และ Retirement Community ที่มีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจ SME และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ความต้องการใช้งานในรูปแบบ B2C ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความตระหนักด้านสุขภาพของผู้บริโภค โดยมี 3 กลุ่มลูกค้าหลักคือผู้สูงอายุระยะต้น อายุ 60-69 ปี กลุ่มวัยทำงานที่อาศัยอยู่กับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วย และวัยทำงานมีแนวโน้มทำกิจกรรมสุขภาพมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม  ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องพิจารณาปัจจัยด้านกำลังซื้อและการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้บริโภค เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ตรงจุด โดยในส่วนของตลาดกำลังซื้อปานกลาง จะเน้นการเข้าถึงการใช้งานของคนส่วนใหญ่ เน้นฟังก์ชันพื้นฐานที่ใช้งานง่าย ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม หรือเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมไปกับการให้บริการของสถานพยาบาล ในขณะที่ตลาดกำลังซื้อสูง มีความเต็มใจที่จะจ่ายสูงกว่า แต่ต้องการฟังก์ชันและบริการที่ออกแบบเฉพาะบุคคลมากขึ้น  นอกจากนี้ ปัจจัยที่จะทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ Health Tech มากขึ้น ยังประกอบด้วยประเด็นด้านความน่าเชื่อถือ ความถูกต้องแม่นยำ รวมถึงมาตรฐานในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอีกด้วย

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest