Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 มกราคม 2564

Econ Digest

ดอกเบี้ยตลาดตราสารหนี้ไทย จะไปทิศทางไหน?

คะแนนเฉลี่ย
               การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่มีสัญญาณรุนแรงขึ้น ทำให้ทางการของหลายประเทศต่างเร่งผลักดันมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจำกัดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ สหรัฐฯ ที่มีการเปิดเผยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ที่เตรียมจะดำเนินการ เป็นวงเงินสูงถึง 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 9% ของจีดีพีสหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย โครงการเราชนะ ก็เป็นหนึ่งในมาตรการใหม่ที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยเช่นกัน
               ในมุมของตลาดเงิน-ตลาดทุนนั้น ตลาดตราสารหนี้เป็นหนึ่งในตลาดการเงิน (นอกเหนือไป จากตลาดหุ้น) ที่มีความอ่อนไหวต่อข่าวการอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะการใช้จ่ายเงินเพิ่มเติมดังกล่าวอาจทำให้ภาครัฐต้องกู้เงินจากแหล่งต่างๆ ซึ่งการออกพันธบัตรก็เป็นช่องทางที่สำคัญช่องทางหนึ่ง และเมื่อรัฐบาลต้องออกพันธบัตรเพิ่มเพื่อระดมเงิน ปริมาณพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นในตลาดก็จะมีผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือบอนด์ยิลด์ (Government Bond Yield) ซึ่งเสมือนเป็นต้นทุนดอกเบี้ยเงินกู้ของภาครัฐ ทยอยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น นอกเหนือจากเรื่องปริมาณพันธบัตรแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อทิศทางบอนด์ยิลด์ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยหลักๆ แล้วจะเป็นเรื่องแนวโน้มดอกเบี้ยหรือสัญญาณนโยบายการเงินของธนาคารกลาง และ/หรือปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจ อาทิ ความคืบของการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ตลอดจนทิศทางอัตราเงินเฟ้อ
                ดังนั้นแล้ว แม้เราจะเห็นบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีทยอยปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1.00% (โดยมีแรงหนุนจากข่าววัคซีนช่วงปลายปี 2563 และมาได้รับแรงหนุนเพิ่มในช่วงต้นปีนี้จากความหวังเรื่องมาตรการกระตุ้นขนาดใหญ่ของประธานาธิบดี โจ ไบเดน) แต่คงต้องยอมรับว่า บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ที่ระดับปัจจุบันยังคงไม่กลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดรอบแรก และแรงหนุนต่อทิศทางบอนด์ยิลด์ในระยะถัดไป จะยังคงขึ้นอยู่กับอีกหลายตัวแปร โดยเฉพาะความคืบหน้าของการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การควบคุมโควิดและแรงหนุนจากวัคซีน ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวม ซึ่งหากสถานการณ์ต่างๆ ทยอยคลี่คลาย ก็คงช่วยหนุนให้บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ ทยอยขยับขึ้นต่อ 
               ทิศทางของบอนด์ยิลด์สหรัฐฯ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความเคลื่อนไหวของบอนด์ยิลด์ไทย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเห็นบอนด์ยิลด์ระยะกลาง-ยาวของไทยทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ ดังนั้นแล้ว แม้ว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ และไทยจะมีแนวโน้มทรงตัวที่ระดับเดิมตลอดทั้งปี 2564 แต่ประเด็นที่ต้องติดตามก็คือ ต้นทุนการกู้เงินทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนสำหรับการกู้ในระยะที่ยาวออกไปมากกว่า 1 ปีที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และมีโอกาสทยอยขยับสูงขึ้นในช่วงหลังจากนี้











   

                                                                                                                                         ​       ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest