Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 กรกฎาคม 2563

Econ Digest

ดัชนี KR-ECI มิ.ย. 63 ชี้ ระยะข้างหน้า...ครัวเรือนมองการครองชีพจะดีขึ้น แมัโจทย์หลักยังต้องประคองภาคธุรกิจ ที่จะมีผลต่อการจ้างงาน

คะแนนเฉลี่ย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทย ในเดือน มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศติดต่อกันนานนับเดือน และภาครัฐได้ผ่อนคลายการบังคับใช้บางมาตรการในการป้องกันโควิด-19 ในระยะต่างๆ  โดยผลการสำรวจพบว่า

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) เดือน มิ.ย. 2563 อยู่ที่ระดับ 36.0 ทรงตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน (36.1) อันเป็นผลจากภาครัฐคลายล็อกดาวน์ โดยออกมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติม สำหรับกิจกรรมและกิจการในกลุ่มสีเหลือง (ระยะที่ 3) และกลุ่มสีแดง (ระยะที่ 4) รวมถึงยกเลิกประกาศห้ามประชาชนออกนอกเคหสถาน (ยกเลิกเคอร์ฟิว) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่กลับมาเป็นปกติ ส่งผลต่อรายได้และภาวะการจ้างงานของครัวเรือนไทย ทยอยปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. 2563 แต่ครัวเรือนไทยยังคงมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลังงานและค่าสาธารณูโภค อีกทั้งครัวเรือนบางส่วน มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรหลาน ก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 ก.ค. 2563
 
ในส่วนของดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.-ก.ย. 2563) อยู่ที่ระดับ 37.4 ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 35.9 ในการสำรวจครั้งก่อนหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ดัชนีฯ ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในระดับสูงกว่าดัชนีฯ เดือนปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนมองว่าภาวะเศรษฐกิจไทยช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะทยอยปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ดี สภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทย ยังอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือ จากภาครัฐและสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลต่อมุมมองการครองชีพของครัวเรือน จึงยังต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย หลังมาตรการเหล่านี้สิ้นสุดลง  

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลัง ของปี 2563 ยังคงมีความเปราะบางอยู่มาก แม้ภาครัฐจะมีมาตรการผ่อนปรนสำหรับทุกกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ​แต่ผลสำรวจนี้ จะสะท้อนผลที่แตกต่าง หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปและเราคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสฯ ในไทยอย่างใกล้ชิด  ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายรัฐในการจัดการปัญหาต่างๆ และทิศทางการฟื้นตัวทางเศรคในระยะถัดไป



Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest