ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2566 โดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ในปีภาษี 2566 และให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ประกาศ (วันที่ 19 มี.ค. 2566) จากเดิมที่ผู้เสียภาษีนี้จะต้องจ่ายเต็มตามปกติ และก่อนหน้านี้ทางการก็มีการขยับเวลาการชำระออกไปอีก 2 เดือน หรือภายในเดือนมิถุนายน 2566 จากเดิมที่ต้องชำระภายในเดือนเมษายน 2566
ประเด็นสำคัญของการปรับลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 15% ในปีภาษี 2566 มีดังนี้
-
การปรับลดภาษีที่ดินฯ 15% ของภาษีที่คำนวณได้ จะครอบคลุมที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 4 ประเภท ได้แก่ เกษตรกรรม ที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม และที่รกร้างว่างเปล่า ขณะที่ ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดภาษี 50% ตามกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะได้รับการลดหย่อนเพิ่มอีก 15% อย่างไรก็ดี กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับการลดหย่อนให้ 90% ตามกฎหมายฯ จะไม่ได้รับการลดภาษี 15% ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ อาทิ สวนสัตว์ สวนสนุก โรงเรียน เป็นต้น
-
การปรับลดภาษีที่ดินฯ ช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายครัวเรือนและภาคธุรกิจลงบางส่วน ในจังหวะที่มีการปรับมาใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในรอบปี 2566-2569 ที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2566 โดยมูลค่าที่ดินทั่วประเทศเฉลี่ยปรับขึ้นประมาณ 8.93% จากราคาประเมินในรอบก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ภาระภาษีที่บรรเทาลงจะมีความแตกต่างกันตามราคาประเมินที่ดินที่ปรับตัวไม่เท่ากันในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น ถนนวิทยุ (ช่วงถ.พระราม 4-ถ.เพลินจิต) ราคาประเมินที่ดินเฉลี่ยปรับขึ้นประมาณ 33% หรือพื้นที่จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ราคาเฉลี่ยปรับขึ้น 20%-30% และในบางจังหวัดอย่างชลบุรี เฉลี่ยปรับขึ้นกว่า 47% จากราคาประเมินในรอบก่อนหน้า ผู้เสียภาษีที่เป็นเจ้าของที่ดินเหล่านี้จึงยังมีแนวโน้มต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นในปี 2566 แต่ก็น้อยกว่าที่ต้องเสียตามอัตราปกติ ส่วนเจ้าของที่ดินที่อยู่ในพื้นที่ที่ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นไม่ถึง 15% ก็จะเสียภาษีน้อยลงจากปี 2565
สำหรับผู้ครอบครองที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง การปรับลดภาษีที่ดินฯ ช่วยบรรเทาภาระรายจ่ายลงเช่นกัน โดยเจ้าของที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ คอนโดมิเนียม) หลังหลักที่มีกรรมสิทธิ์ทั้งที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ยังคงได้รับการยกเว้นภาษี ขณะที่ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ขึ้นไป มีราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาท เจ้าของกรรมสิทธิ์จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0.02 ตัวอย่าง ที่อยู่อาศัยหลังที่สองที่มีมูลค่า 15 ล้านบาท อัตราภาษีที่ 0.02% ภาระภาษีที่เดิมต้องชำระ 3,000 บาท เมื่อหักลดหย่อน 15% จะเหลือภาษีที่ต้องชำระ 2,550 บาท หากเป็นผู้ปล่อยเช่าที่อยู่อาศัย เช่น ปล่อยเช่าคอนโดฯ ซึ่งอาจมีอยู่หลายแห่ง โดยรวมแล้วก็จะได้รับการลด 15% จากภาษีรวมที่คำนวณได้ แต่ภาระจ่ายในปีนี้สุทธิแล้วจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากปีก่อน ก็คงขึ้นอยู่กับการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินใหม่ของคอนโดฯในแต่ละแห่งที่ครอบครองว่าเพิ่มขึ้นเท่าใดประกอบด้วย
-
แม้ภาระบางส่วนได้รับการบรรเทาลง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ประเด็นนี้น่าจะไม่ได้เปลี่ยนภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยที่กำลังอยู่ภายใต้โจทย์ท้าทายหลายด้าน ขณะที่ ในระยะถัดไปหรือในปีภาษี 2567 หากสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่ภาษีที่ดินฯ จะถูกกลับมาจัดเก็บในอัตราปกติหรือทางการอาจมีการทบทวนอัตราภาษีใหม่ เนื่องจากอัตราเดิมใช้มาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงการระบาดของโควิด ทำให้เจ้าของที่ดินฯ อาจมีภาระภาษีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยผู้ครอบครองทรัพย์สินมากแต่มีรายได้น้อย หรือผู้ที่มีทรัพย์สินอยู่ในทำเลเศรษฐกิจ (Prime Area) หรือผู้ครอบครองทรัพย์สินแต่มีศักยภาพจำกัดในการพัฒนา คงจะเป็นกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
|
Click ชมคลิป
ลดภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 15% ปี 66 บรรเทาภาระรายจ่าย...ครัวเรือนและภาคธุรกิจ |
Scan QR Code
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น