Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 สิงหาคม 2565

Econ Digest

เมียนมาระงับจ่ายหนี้สกุลดอลลาร์ฯ กระทบส่งออกไทยอย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย





ธนาคารกลางเมียนมาประกาศให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินในประเทศเลื่อนการชำระหนี้ต่างประเทศออกไป ท่ามกลางการขาดแคลนเงินดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2565 ยังคงอนุญาตให้ใช้เงินบาทและเงินหยวนในการค้าสินค้าชายแดนได้ แต่ก็ห้ามนำเข้ารถยนต์และสินค้าฟุ่มเฟือยรวมทั้งควบคุมการนำเข้าน้ำมันและน้ำมันสำหรับทำอาหารอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ สำนักข่าว Bloomberg ระบุว่าบริษัทในเมียนมามีหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ฯ อย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ฯ (หรือประมาณ 1.8% ของ GDP) ทางการได้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 1,850 จ๊าด/ดอลลาร์ฯ ต่ำกว่าอัตราตลาดที่อยู่ที่ 2,190 จ๊าด/ดอลลาร์ฯ ผลกระทบที่ตามมาแบ่งได้ดังนี้
มาตรการห้ามใช้เงินดอลลาร์ฯ ส่งผลกระทบต่อการรับชำระเงินค่าสินค้าส่งออกของไทยกับเมียนมาอย่างจำกัด โดยเฉพาะผู้ส่งออกในช่องทางการค้าปกติที่ใช้เงินดอลลาร์ฯ มีมูลค่ารวม 2.1 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเมียนมา ขณะที่ผู้ค้าชายแดนไม่ได้รับผลกระทบและเป็นช่องทางการค้าหลักของไทย 90% หรือมีมูลค่า 2 แสนล้านบาท
-    ผู้ส่งออกไทยที่ใช้ช่องทางการค้าปกติ (ทางทะเล) ส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ฯ อาจได้รับเงินค่าสินค้าล่าช้า เนื่องจากช่องทางนี้โดยปกติมีการคิดราคาสินค้าในใบแจ้งหนี้ (Invoice) เป็นดอลลาร์ฯ การจะเปลี่ยนให้เป็นเงินบาทมีความยุ่งยากในการดำเนินงาน ซึ่งผู้ส่งออกจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงด้านการชำระเงินตรงนี้ รวมทั้งควรพิจารณาเพิ่มทางเลือกมาใช้การขนสินค้าชายแดนเพื่อกระจายความเสี่ยงที่เกิดขึ้น
-    การค้าชายแดนส่วนใหญ่รับชำระเงินในรูปเงินบาท-จ๊าดอยู่แล้วจึงไม่กระทบ และตั้งแต่เกิดรัฐประหารในปี 2564 ก็มีการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าก่อนส่งสินค้าและไม่ให้เครดิตแก่ผู้นำเข้าเมียนมาเพื่อลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ขณะที่ผู้นำเข้าเมียนมาก็เป็นผู้ที่ทำธุรกิจส่งออกไปพร้อมกันจึงมีสภาพคล่องเงินบาทที่สามารถเคลียร์การชำระค่าสินค้าได้โดยสะดวก อีกทั้งผู้นำเข้ายังมีช่องทางเสริมสภาพคล่องเงินบาทได้จากตัวกลางชำระเงินในระดับท้องถิ่นหรือโพยก๊วนที่รับโอนเงินบาทจากแรงงานเมียนมาในฝั่งไทยได้อีกทางหนึ่ง
-    นอกจากนี้ การใช้เงินบาท-จ๊าดในการชำระค่าสินค้าชายแดนมีแนวโน้มคล่องตัวมากขึ้นอีก จากการรับรองโดยทางการเมียนมาที่ประกาศให้ใช้เงินบาททำธุรกรรมทางการค้าชายแดนได้อย่างเป็นทางการ (เช่นเดียวกับเงินรูปีของอินเดีย และเงินหยวนของจีน) เมื่อเดือน มี.ค.2565 ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้การค้าของไทยกับอาเซียนหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อเสริมความคล่องตัวทางการค้าภายในภูมิภาค โดยจากข้อมูลการรับชำระเงินค่าสินค้าส่งออกของไทยจากธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนมีการใช้เงินบาทในสัดส่วนที่สูงถึง 58% โดยเฉพาะการรับชำระค่าสินค้าส่งออกจากเมียนมาและ สปป.ลาว ขณะที่ในภาพรวมการส่งออกของไทยมีการใช้เงินบาทเพียง 15.5% เท่านั้น
การส่งออกสินค้าของไทยบางรายการได้รับผลกระทบโดยตรงจากประกาศข้างต้น มีผลให้คำสั่งซื้อที่อาจหยุดชะงักหรือลดลงในช่วงที่เหลือของปี 2565 โดยเฉพาะรถยนต์และสิ้นค้าฟุ่มเฟือยที่ถูกห้ามนำเข้า รวมถึงการควบคุมการนำเข้าน้ำมันและน้ำมันสำหรับทำอาหาร ซึ่งไทยส่งออกสินค้าเหล่านี้คิดเป็นไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของการส่งออกของไทยไปเมียนมาทั้งหมด แบ่งเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย (ยานยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องสำอาง) 5.3 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.8% ของการส่งออก และน้ำมันและน้ำมันสำหรับทำอาหาร 13.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของการส่งออก อย่างไรก็ดี การส่งออกของไทยไปเมียนมาในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 เติบโตถึง 32% มีมูลค่า 6.8 หมื่นล้านบาท มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากช่องทางการส่งออกชายแดนเติบโตโดดเด่น 34.2% มีมูลค่า 5.99 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลของราคาสินค้าที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาช่วยหนุนการเติบโต บวกกับสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าเพื่อการผลิตของไทยยังคงเป็นที่ต้องการของเมียนมา
ขณะที่สถาบันการเงินไทยที่ให้นักธุรกิจไทยในเมียนมากู้ยืมได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากการปล่อยกู้ส่วนใหญ่ใช้หลักประกันของลูกค้าที่อยู่ในไทย แต่ผู้ประกอบการที่อยู่ในเมียนมาอาจได้รับผลกระทบในการส่งเงินกลับบริษัทแม่มากกว่า ซึ่ง FDI ไทยในเมียนมาที่ได้รับการอนุมัติมีมูลค่า 84.7 ล้านดอลลาร์ฯ ในปี 25641 ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจพลังงานและเครื่องดื่มเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวของเมียนมาส่งผลต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนในระยะข้างหน้ามากขึ้นไปอีก นับจากเกิดรัฐประหารในเดือน ก.พ.2564 ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจเมียนมาปี 2564 หดตัว 18% ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าแตะที่ 1,853 จ๊าด/ดอลลาร์ฯ ณ เดือน ก.ค. 2565 (จากที่ 1,321 จ๊าด/ดอลลาร์ฯ ในเดือน ม.ค. 2564) อีกทั้งมาตรการนี้ยิ่งทำให้เม็ดเงินลงทุนที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจลดหายไป ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อของเมียนมาสูงที่สุดในกลุ่มอาเซียนอยู่ที่ 18% ยิ่งฉุดให้เศรษฐกิจเมียนมาปี 2565 เผชิญความเสี่ยงถดถอยต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยอาจจะหดตัวที่ 1.6%2





----------------------------------------------
 1 ข้อมูลจาก CEIC
 2 Focus Economics เดือน ส.ค.2565

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest