Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 พฤศจิกายน 2563

Econ Digest

เมียนมา...หลังอองซานซูจีชนะเลือกตั้งสมัย 2

คะแนนเฉลี่ย
​ในช่วงก่อนหน้ารัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมามีเฉลี่ยเพียงปีละ 2,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในเมียนมาคือประเทศจีน ซึ่งมุ่งหวังในทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น การลงทุนในเหมืองแร่ทองแดง เหล็ก และหยก เป็นต้น นับตั้งแต่นางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในสมัยแรก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าเมียนมามากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า เป็นเฉลี่ยปีละ 6,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนมากจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกในอาเซียน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี พยายามปรับโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มีความสมดุลย์มากขึ้นระหว่างจีนและประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตก นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังพยายามปรับโครงสร้างการลงทุนจากที่เคยพึ่งพาการลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม และในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน นิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมียนมาได้ในระยะยาว




ในช่วงก่อนหน้ารัฐบาลของนางอองซาน ซูจี มูลค่าการลงทุนของต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนในเมียนมามีเฉลี่ยเพียงปีละ 2,083 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งในเมียนมาคือประเทศจีน ซึ่งมุ่งหวังในทรัพยากรธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น การลงทุนในเหมืองแร่ทองแดง เหล็ก และหยก เป็นต้น นับตั้งแต่นางอองซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในสมัยแรก เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าเมียนมามากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า เป็นเฉลี่ยปีละ 6,654 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของเม็ดเงินลงทุนมากจากสิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของชาติตะวันตกในอาเซียน จะเห็นได้ว่า รัฐบาลของนางอองซาน ซูจี พยายามปรับโครงสร้างการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศให้มีความสมดุลย์มากขึ้นระหว่างจีนและประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตก นอกจากนี้ รัฐบาลเมียนมายังพยายามปรับโครงสร้างการลงทุนจากที่เคยพึ่งพาการลงทุนในทรัพยากรธรรมชาติ ไปสู่การลงทุนที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในภาคอุตสาหกรรม และในโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ถนน นิคมอุตสาหกรรม และโรงไฟฟ้า ซึ่งการลงทุนเหล่านี้จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของเมียนมาได้ในระยะยาว



ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี ที่นางอองซาน ซูจี ได้เข้ามาบริหารประเทศ เมียนมาได้เปลี่ยนแปลงจากประเทศที่ส่งออกทรัพยากรธรรมชาติ และสินค้าเกษตรเป็นหลัก มาเป็นประเทศที่สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งกลายมาเป็นสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมสิ่งทอ และการตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และการส่งออกแร่เชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก็ค่อย ๆ มีสัดส่วนลดลงตามลำดับ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออกนี้ ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาทางเศรษฐกิจของเมียนมา ที่เริ่มเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม



ปัจจุบัน จุดแข็งของเมียนมา คือ ค่าจ้างแรงงานที่ถูกที่สุดในอาเซียน และสิทธิ GSP ที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาด EU และสหรัฐ ฯ ได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีเพิ่มเติม จึงทำให้เมียนมาเป็นประเทศที่ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญ เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งที่มีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนักในอาเซียน เช่น สปป.ลาว และกัมพูชา ประเทศเมียนมามีการปฏิรูประบบราชการ ให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ และการลดค่าธรรมเนียมการจัดตั้งบริษัท จึงทำให้เมียนมาได้รับการจัดลำดับ Ease of Doing Business ให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยจากเดิมก่อนรัฐบาลของนางอองซาน ซูจี เมียนมาเคยอยู่ในลำดับที่ 177 แต่ในปีนี้ เมียนมาขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 165 ซึ่งสวนทางกับประเทศ สปป.ลาว และกัมพูชา ที่ได้รับการจัดลำดับให้แย่ลงในช่วงเวลาเดียวกัน ดังนั้น หลังอองซาน ซูจี คว้าชัยชนะเลือกตั้งสมัยที่สอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในเมียนมาจะมีแนวโน้มดีขึ้น จากอานิสงค์ของศึกชิงมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ ฯ ที่ทำให้ประเทศจีนจะเข้ามาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมมลฑลยูนนานกับมหาสมุทรอินเดียที่ชายฝั่งทะแลทางตะวันตกของเมียนมา เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งโครงการเหล่านี้จะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของจีน พร้อมทั้งเป็นประตูทางออกสินค้าจีนไปยังมหาสมุทรอินเดียได้อีกด้วย ส่วนประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตกก็มีแนวโน้มมาลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพิ่มขึ้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ และการตัดเย็บเสื้อผ้า เนื่องจากสหรัฐฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเมียนมาที่มีต่อจีนเป็นอย่างดี จึงมีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐ ฯ จะไม่เพิกถอนสิทธิ GSP ของเมียนมา ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสถานการณ์การลงทุนของเมียนมาในเวลานี้ สิ่งเหล่านี้ จะส่งผลดีต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศเมียนมา ทำให้สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น จากประเทศพันธมิตรของชาติตะวันตกต่อไปได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดความชะงักงันของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอในช่วงต้นปีนี้ เนื่องจากเมียนมาต้องพึ่งพาการนำเข้าเส้นใยและผ้าผืนจากจีนมากถึง 90% จึงทำให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเมียนมาต้องปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก และทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของเมียนมาหดตัวลงถึง 8.1% ในช่วงเดือนมกราคม – สิงหาคม 2563 ซึ่งส่วนใหญ่สินค้าอุตสาหกรรมหลักของเมียนมาก็คือ เสื้อผ้าสำเร็จรูป นั่นเอง ศูนย์วิจัยมองว่า การปิดกิจการของโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าในเมียนมาจะส่งผลให้การพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอในเมียนมาต้องหยุดชะงักลงในระยะสั้น (1-3 ปีข้างหน้า) แต่ยังคงมองว่า ปัจจัยนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศเมียนมา และการลงทุนของต่างชาติในอุตสาหกรรมสิ่งทอ และการตัดเย็บเสื้อผ้าก็จะฟื้นตัวได้ในอีกครั้ง ในระยะยาว







                                                                                                                                                         ขอบคุณภาพจาก  Shutterstock.com​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest