Display mode (Doesn't show in master page preview)

3 สิงหาคม 2565

Econ Digest

โปรตีนทางเลือกเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต เติบโตอย่างที่คิด?

คะแนนเฉลี่ย


​ถ้าพูดถึงอาหารกลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากพืช (Plant-based Protein) โปรตีนจากแมลง (Insect-based Protein) หรือโปรตีนจากวัตถุดิบอื่นๆที่ผ่านการแปรรูป โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และซับซ้อน เพื่อให้ได้รสชาติ เนื้อสัมผัส รวมถึงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ใกล้เคียงโปรตีนหลักมากที่สุด อาหารเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นเทรนด์อาหารเพื่ออนาคต (Future Food) ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งเรื่องของสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง แต่ทิศทางของตลาดโปรตีนทางเลือกของไทย ในปี 2565 จะเป็นอย่างไรไปดูกัน


#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 มูลค่าตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ น่าจะอยู่ที่ 4,100 ล้านบาท หรือขยายตัว 5.1% ซึ่งน้อยกว่าที่เคยคาดไว้เดิม เป็นผลมาจากปัจจัยความท้าทาย ทั้งในเรื่องของค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ประกอบกับการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปที่มีหลากหลายระดับราคาและช่องทางการจำหน่าย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ อาจยังเผชิญความท้าทายในการเพิ่มปริมาณการบริโภคเพื่อเสริม หรือทดแทนมื้ออาหารหลักในกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่

 

นอกจากประเด็นเรื่องกำลังซื้อผู้บริโภคและการแข่งขันกับอาหารโปรตีนทั่วไปแล้ว การดำเนินธุรกิจโปรตีน ทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในปี 2565 ยังมีความท้าทายสำคัญจากการแข่งขันที่เริ่มรุนแรง การรุกเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจังของผู้ประกอบการจำนวนมากขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ภายใต้สถานการณ์ราคาธัญพืชโลก ราคาพลังงาน และค่าขนส่งที่ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นได้อีกในช่วงที่เหลือของปี 2565


แต่อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าหากไม่มีผลของภาวะเศรษฐกิจค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่เร่งตัวสูงจากภาวะเงินเฟ้อ ในปี 2565 ตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่อาจเติบโตได้ราว 7.0% จากปีก่อน ด้วยศักยภาพของสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์บริโภคเรื่องสุขภาพ-สิ่งแวดล้อม ประกอบกับการเข้าสู่ตลาดนี้อย่างจริงจังของผู้ประกอบการหลายราย น่าจะทำให้เกิดการลงทุน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นตามมา จึงคาดว่ามีโอกาสที่อัตราการบริโภคสินค้ากลุ่มนี้จะยังขยายตัวต่อไป ขณะที่ช่องว่างทางการตลาดสำหรับตลาดโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมอาหารใหม่ในไทยยังมีอีกมาก เพราะมูลค่าตลาดของอาหารกลุ่มนี้ยังมีสัดส่วนเพียง 0.6% เมื่อเทียบกับตลาดอาหารในกลุ่มโปรตีนทั้งหมดในไทยที่คาดว่าในปี 2565 จะมีมูลค่ากว่า 7.16 แสนล้านบาท


ในขณะที่ตลาดส่งออก ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่น่าสนใจ เพราะการตอบรับสินค้ากลุ่มโปรตีนทางเลือกที่มาจากนวัตกรรมใหม่ของผู้บริโภคในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงกว่าตลาดในประเทศ จะเห็นได้จากมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ที่เติบโตได้ดี ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 ทั้งในส่วนของโปรตีนทางเลือกจากพืช มีมูลค่าการส่งออกราว 628.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 13.5% YoY โดยตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่นและอาเซียน เป็นต้น และโปรตีนจากแมลง มีมูลค่าการส่งออกราว 129.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือขยายตัว 25.0% YoY  ตลาดส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป อาทิ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี่ เบลเยียม เป็นต้น


ดังนั้นการศึกษาโอกาสทางการตลาดเชิงลึกที่รอบด้าน ควบคู่กับการชูจุดแข็งในสินค้าที่เป็นเอกลักษณ์ เช่น เมนูอาหารไทย อาหารทะเลจากพืช เป็นต้น กระบวนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และการสร้างเรื่องราวที่จูงใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย ยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจได้

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest