Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 สิงหาคม 2563

Econ Digest

เหตุผลที่มากกว่า Data Security ที่สหรัฐฯกีดกัน...โซเชียลมีเดียต่างชาติ

คะแนนเฉลี่ย

              จากช่วงภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้บริการโซเชียลมีเดียแอปพลิเคชันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งกลายเป็นช่องทางสร้างปฏิสัมพันธ์หลักระหว่างผู้บริโภคในช่วงคงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เป็นผลให้ข้อมูลผู้บริโภคจำนวนมหาศาลไหลบ่าเข้าสู่ช่องทางอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว โดยแม้ว่าในระยะที่ผ่านมาจะมีกรณีนำเอาข้อมูลผู้บริโภคไปใช้แสวงหาโอกาสทางธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความรำคาญใจจนเกิดเป็นกรณีการฟ้องร้องขึ้นมา แต่จากเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการขยายตัวของภาคธุรกิจโซเชียลมีเดียสู่ต่างประเทศอย่างกว้างขวาง จึงเป็นการเอื้อโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจดังกล่าวสามารถรุกล้ำข้อมูลพฤติกรรมและข้อมูลส่วนบุคคลได้ง่ายดายยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ ประเด็นด้านความปลอดภัยและการคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภค (Data Security) และระดับความเชื่อมั่นต่อกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคในแต่ละประเทศ จึงกลายเป็นปัจจัยหลักกระทบการเติบโตของภาคธุรกิจโซเชียลมีเดีย

          ทั้งนี้ ปัจจุบันเกิดกรณีการกีดกันโซเชียลมีเดียต่างชาติออกจากประเทศสหรัฐฯ และมีการออกคำสั่งจากประธานาธิบดีในการห้ามบริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับบริษัทโซเชียลมีเดียดังกล่าว ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่า สาเหตุหลักของการกีดกันแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียต่างชาติน่าจะมาจากประเด็นความกังวลด้าน Data security อันสืบเนื่องมาจากกระบวนการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคที่แตกต่างกันเป็นหลัก เนื่องด้วยในกรณีของประเทศสหรัฐฯ หากภาครัฐต้องการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภค จะต้องมีการอ้างถึงประเด็นด้านความมั่นคงของชาติ (National Security) เข้ามาเกี่ยวข้อง และภาครัฐต้องยื่นเรื่องให้ศาลพิจารณาเพื่อรอฟังคำอนุมัติ จึงทำให้สหรัฐฯมีความคุ้นชินต่อกระบวนการตรวจสอบที่มีตัวคานอำนาจภาครัฐในการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคดังกล่าว ทว่า เมื่อพิจารณาทางฝั่งของประเทศผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่ถูกกีดกันตามที่เป็นข่าว สหรัฐฯคงมองว่าบทบาทของภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศนั้นยังคงไม่กระจ่างชัด เนื่องจาก หากภาครัฐต้องการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคจากฐานข้อมูลของผู้ประกอบการโซเชียลมีเดีย บริษัทดังกล่าวมีแนวโน้มต้องให้ความร่วมมือโดยปราศจากการตรวจสอบ หรือการอนุมัติจากภาคการปกครองอื่น สะท้อนให้เห็นว่าทางการสหรัฐคงจะมีความกังวลว่าภาครัฐบาลประเทศดังกล่าวอาจจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือภาคเอกชนดังนั้น แม้ว่าประเทศผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างชาติจะมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลผู้บริโภคที่ได้มาตรฐาน และมีระบบการเก็บรักษาข้อมูลผู้บริโภคที่ได้รับการยอมรับ ทว่า ด้วยประเด็นด้านความคลุมเครือระหว่างบทบาทภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้ทางการสหรัฐฯเกิดความไม่มั่นใจต่อโซเชียลมีเดียที่มาจากประเทศดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ มุมมองและการยอมรับในกระบวนการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคที่แตกต่างกัน ทำให้สหรัฐฯเกิดความไม่มั่นใจจนนำไปสู่การดำเนินมาตรการป้องกันผ่านการปิดกั้นการให้บริการโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งเรียกร้องให้โซเชียลมีเดียต่างชาติตอบรับข้อเสนอผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหญ่สหรัฐฯในการซื้อขาดแพลทฟอร์มโซเชียลมีเดียดังกล่าวเพื่อมาดำเนินการให้บริการเองในสหรัฐฯ

            ​อนึ่ง การดำเนินแนวทางดังกล่าวของประเทศสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบไม่ว่าผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียต่างชาติจะตอบรับข้อเสนอหรือไม่ก็ตาม เนื่องด้วยหากข้อเสนอข้างต้นได้รับการตอบรับ สหรัฐฯจะสามารถตอบโจทย์ด้านการป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ผ่านการย้ายฐานข้อมูลผู้บริโภคสหรัฐฯในประเทศดังกล่าวกลับมาที่ประเทศตนเอง อีกทั้งยังเสริมศักยภาพทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสหรัฐฯจากการได้รับส่วนแบ่งในตลาดโซเชียลมีเดียเพิ่มเติม  ในขณะเดียวกัน หากผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียต่างชาติปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว สหรัฐฯน่าจะมีแนวโน้มดำเนินการปิดกั้นการให้บริการ ซึ่งจะเป็นผลให้ลดจำนวนผู้เข้าแข่งขันในตลาดให้กับผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียรายใหญ่สหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเล็งเห็นว่า Data Security ในประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์อันสืบเนื่องมาจากการเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ อาจกลายเป็นประเด็นหลักที่ผู้ประกอบการโซเชียลมีเดียนานาประเทศต้องพิจารณาประกอบการวางแผนขยายธุรกิจเข้าสู่ภาคดิจิทัลประเทศอื่น


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest