Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 ตุลาคม 2563

Econ Digest

จับตา...เลือกตั้งสหรัฐฯ 63 ลุ้นทิศทางเศรษฐกิจ

คะแนนเฉลี่ย
            การเลือกตั้งประธานาธิดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า หากนายโจ ไบเดนชนะจะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2564 กลับมาฟื้นตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3.0% ซึ่งสูงกว่าในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวน้อยกว่า 2.0% จากข้อจำกัดในการบริหารงาน แต่อย่างไรก็ดี ยังต้องรอบทสรุปอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค. 2564 

             ผลต่อตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้น เงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงอาจเพิ่มสูงขึ้นมาก หากการรับรองผลการเลือกตั้งยืดเยื้อ ส่วนในระยะกลาง-ยาว หากนายโจ ไบเดนชนะ เงินดอลลาร์ฯ อาจอ่อนค่าตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด และอาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ แต่หากนายโดนัลด์ ทรัมป์พลิกโผชนะการเลือกตั้ง อาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้น ขณะที่แนวโน้มการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่อาจไม่รุนแรงเท่ากับกรณีของนายโจ ไบเดน อาจทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่เร่งตัวขึ้นมาก แต่ปัจจัยเสี่ยงจากท่าทีที่ปรับเปลี่ยนบ่อยของปธน. โดนัลด์ ทรัมป์ อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ แข็งค่าขึ้นในบางช่วง แม้ระยะยาว เงินดอลลาร์ฯ จะถูกกดดันจากสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟดก็ตาม 

             ​ผลทางตรงต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยปี 2564 หากนายโจ ไบเดนชนะเลือกตั้ง เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ ทำให้ภาพรวมส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ปี 2564 มีโอกาสขยายตัวดีในกรอบ 10-12% มูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ ดีขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 6.4% แต่ถ้านายโดนัลด์ ทรัมป์ชนะ การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ อาจโตต่ำกว่า 5.0% มูลค่าส่งออกราว 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ สินค้าส่วนใหญ่เติบโตได้ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย ขณะที่ผลทางอ้อมผ่านนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนนั้น ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้นำ ท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนทำให้การลงทุนโดยตรงยังคงไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในระยะสั้นทิศทางสงครามการค้าคาดว่าจะไม่ยกระดับในกรณีของนายโจ ไบเดน แต่มีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวขึ้นในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์


Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest