Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 กุมภาพันธ์ 2565

Econ Digest

Virtual Bank มาแล้ว...

คะแนนเฉลี่ย

          เทคโนโลยีในโลกยุคดิจิทัลที่มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในชีวิตประจำวัน เป็นปัจจัยเร่งสำคัญอย่างหนึ่งต่อการเกิดนวัตกรรมทางการเงิน รวมไปถึงระบบการให้บริการทางการเงินใหม่ๆ โดยเฉพาะการเกิดธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลแบบไร้สาขา หรือ Virtual Bank ที่เริ่มมีกระแสให้พูดถึงในวงกว้าง ขณะที่ทางการในหลายๆ ประเทศ ก็ทยอยออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง และจีน จะพบว่า การอนุญาตให้ดำเนินธุรกิจ Virtual Bank ภายใต้การออกใบอนุญาตของทางการโดยส่วนใหญ่จะมีแนวนโยบายที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ มุ่งส่งเสริมการแข่งขันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงิน โดยเปิดโอกาสให้ธุรกิจอื่นๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้น อันจะช่วยตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภค ส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน ลดต้นทุนดำเนินงานจากสาขา และที่สำคัญคือ เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินในเงื่อนไขที่ดีกว่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้า SMEs หรือกลุ่มลูกค้ารายย่อยที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันทางการเงินในระบบ (Unserved และ Underserved)
          อย่างไรก็ดี ทางการในแต่ละประเทศก็มีการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจ Virtual Bank เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงเกินไปจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินในประเทศ ขณะที่มีเกณฑ์การกำกับดูแลด้านความเสี่ยงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม อาทิ ด้านความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy) และสภาพคล่อง (Liquidity) แต่อาจไม่เข้มข้นเท่า Full Service Banks นอกจากนี้ จะเป็นที่น่าสังเกตว่า เกณฑ์การออกใบอนุญาต Virtual Bank ของประเทศกรณีศึกษาจะมีเงื่อนไขของการทำแผนธุรกิจ และแผนการออกจากธุรกิจหรือ Exit Plan ในกรณีที่ธุรกิจไม่สบความสำเร็จด้วย นั่นอาจเป็นเพราะ Virtual Bank ยังเป็นเรื่องใหม่ และผู้ประกอบการรายใหม่มักมีต้นทุนที่สูงมากในระยะแรก ซึ่งต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการกว่าจะถึงจุดที่คุ้มทุน ขนาดหรือการขยายการให้บริการในวงกว้างก็อาจต้องใช้เวลาไปอีกระยะหนึ่ง
         จุดสนใจอีกประการ คือ กลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ โดยผู้ที่ได้รับใบอนุญาตของแต่ละประเทศส่วนใหญ่มักอยู่ในกลุ่มธุรกิจ e-Commerce, e-Market Place, TechFin, โทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์ค เนื่องจากกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจ Virtual Bank โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและฐานข้อมูลลูกค้า ทั้งข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลด้านพฤติกรรมที่จะสามารถต่อยอดผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ได้ในอนาคต ซึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจคงเป็นกรณีของประเทศจีน อาทิ WeBank และ MyBank ที่สามารถต่อยอดธุรกิจจากการที่มีฐานลูกค้าเดิมเป็นจำนวนมาก ทั้งในแพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง WeChat (กรณี WeBank) และ e-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Alibaba (กรณี MyBank) โดยทั้งสองแพลตฟอร์มมีฐานลูกค้าคนจีนใช้งานอยู่มากกว่าร้อยละ 75 ของประชากรจีนทั้งหมด ซึ่งน่าจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลพฤติกรรมของลูกค้า มาประมวลผลเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ยืดหยุ่นขึ้น เช่น นำพฤติกรรมของลูกค้าในด้านการใช้สื่อโซเชียลเน็ตเวิร์คมาจัดทำ credit scoring แบบใหม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพียงแค่ไม่กี่นาที อันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยี AI ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Virtual Bank ในจีนค่อนข้างประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา Virtual Bank ในจีนมีสัดส่วนสินเชื่อประมาณร้อยละ 5 ของตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกัน และประมาณร้อยละ 7 ของตลาดสินเชื่อ SMEs ในจีน
         เมื่อหันมามองฝั่งประเทศไทยในปัจจุบัน ทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็เริ่มมีทิศทางและแนวนโยบายที่จะเปิดให้จัดตั้ง Virtual Bank โดยจะเปิดกว้างให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาด เพื่อให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการมากขึ้น และช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs และลูกค้ารายย่อยสามารถเข้ามาใช้บริการทางการเงินในระบบอย่างเหมาะสม โดยไม่ก่อให้เกิดการผูกขาด ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับกรณีของต่างประเทศ
ทั้งนี้ ลักษณะสำคัญของ Virtual Bank ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยต้องการ มีอยู่ 2 ประการหลัก ได้แก่ 1) ต้องมีขอบเขตการประกอบธุรกิจเหมือนธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิมอย่างเต็มรูปแบบ และอยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลความเสี่ยงเช่นเดียวกับธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม และ 2) ต้องจดทะเบียนจัดตั้งและมีสำนักงานใหญ่หรือบริษัทแม่ในไทย เพื่อให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจผ่านหน่วยงานในไทยได้ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นี้ ซึ่งร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ อาทิ การเข้าถึงเครือข่ายการชำระเงินกลางของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลสำคัญที่หลากหลาย หรือแม้กระทั่งเพดานดอกเบี้ยของการปล่อยสินเชื่อ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดหน้าตาและบทบาทของ Virtual Banking ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย ตลอดจน ผลกระทบต่อผู้เล่นดั้งเดิมอื่นๆ ในอนาคต

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest