Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 สิงหาคม 2566

Econ Digest

ภาษีลาภลอย...ธนาคารอิตาลีต่างจากไทยอย่างไร?

คะแนนเฉลี่ย
  • ทางการอิตาลีมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Tax) กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในช่วงที่ผ่านมา โดยการเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับหลายประเทศในยุโรป อาทิ สเปน ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก และลิทัวเนีย  
            แม้รายละเอียดของการจัดเก็บภาษีลาภลอยอาจต้องมีการสรุปอีกครั้งในช่วงหลังจากนี้ แต่สิ่งที่แน่ชัดแล้วก็คือ รายได้ของภาคธนาคารที่จะถูกเก็บภาษีลาภลอยเพิ่มเติมจะเป็น “รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ” ซึ่งมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขากู้-ฝากขยับกว้างขึ้น โดยในเบื้องต้น ภาษีลาภลอยจะจัดเก็บ 1 ครั้งในอัตรา 40% ของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เติบโตเกินกว่าระดับที่กำหนดเมื่อเทียบกับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในปี 2564 (เช่น ส่วนที่โตเกินกว่า 5% เมื่อเทียบรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2565 กับปี 2564 หรือโตเกินกว่า 10% เมื่อเทียบรายได้ดอกเบี้ยสุทธิปี 2566 กับปี 2564) ซึ่งภาษีลาภลอยที่จัดเก็บเพิ่มจะมีเพดานการเก็บไม่เกินกว่า 0.1% ของสินทรัพย์รวม อย่างไรก็ดี แม้จะมีเพดานการจัดเก็บที่ชัดเจน แต่สำหรับในฝั่งของแบงก์ในอิตาลีนั้น อาจต้องมีการปรับตัว และต้องมีการทยอยประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยในฝั่งเงินฝากเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อลดผลกระทบจากภาษีดังกล่าว
  • ย้อนกลับมาดูในกรณีของประเทศไทย แม้ทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นมีผลช่วยหนุนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบแบงก์ไทย แต่คงไม่สามารถเทียบเคียงสถานการณ์ของไทยกับอิตาลีจากตัวเลขต่างๆ ได้โดยตรง เนื่องจากปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม มาตรการช่วยลูกหนี้ และระบบของภาคธนาคารมีความแตกต่างกัน โดยมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติมอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

1)    อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ECB เร่งตัวขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย โดย ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วถึง 4.25%  (จากระดับ 0.00% ในเดือนมิ.ย. 2565 มาที่ 4.25% ในเดือนส.ค. 2566) ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยทยอยปรับขึ้น โดยรวมๆ แล้วปรับขึ้นมา 1.75% (จากระดับ 0.50% ในเดือนก.ค. 2565 มาที่ 2.25% ในเดือนส.ค. 2566) ซึ่งทิศทางดอกเบี้ยดังกล่าวช่วยหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของอิตาลีเติบโตมากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของแบงก์อิตาลีปี 2565 เพิ่มขึ้นประมาณ 22% เทียบกับของแบงก์ไทยที่โตประมาณ 12%
2)    การเก็บภาษีลาภลอยในภาคธนาคารของอิตาลีมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินส่วนนั้นไปทำมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ซึ่งไทยเองก็มีกลไกช่วยเหลือลูกหนี้และปรับโครงสร้างให้กับลูกหนี้ที่กำลังดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน โดย ณ พ.ค. 2566 มีจำนวนบัญชีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือจากแบงก์และนอนแบงก์ 2.14 ล้านบัญชี ยอดหนี้ประมาณ 1.88 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 12.2% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ ในช่วงเม.ย. 2567 ทั้งแบงก์และนอนแบงก์ก็จะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้หนี้เรื้อรังให้กับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล
3)    ประเด็นด้านกฎหมาย ซึ่งบริบทของแนวทางการจัดเก็บภาษีลาภลอยของไทยมีความแตกต่างจากต่างประเทศ ดังนั้น อาจไม่สามารถเทียบเคียงมาตรการภาษีในลักษณะดังกล่าวของต่างประเทศกับไทยได้โดยตรง โดยสาระสำคัญจากร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐพ.ศ. .... (ร่างพ.ร.บ. ภาษีลาภลอย) จะมีการจัดเก็บภาษีจากภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคลและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างคมนาคมขั้นพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งไม่ได้ครอบคลุมไปยังธุรกิจประเภทอื่นๆ


  • นอกจากนี้ กลไกการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ไทยในรอบนี้มีความแตกต่างจากรอบก่อนๆ โดยจำนวนรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์น้อยกว่าจำนวนรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (หากไม่นับรวมรอบการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ช่วงต้นปี 2566 หลังเงินนำส่งเข้า FIDF กลับมาจัดเก็บในอัตราปกติ) และในบางรอบก็มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ MRR ในอัตราที่น้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR และ MOR เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย นอกจากนี้รายได้ดอกเบี้ยสุทธิในระบบแบงก์ไทย ก็มีการหักในส่วนของรายจ่ายที่ต้องที่ธนาคารต้องนำส่งสมทบเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินและกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ที่ปัจจุบันจัดเก็บในอัตรา 0.46% และ 0.01% ของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก ตามลำดับ โดยยอดรวมของอัตราเงินนำส่งทั้ง 2 ส่วนนี้ยังคงอยู่ต่ำกว่าเพดานที่ 1% ตามพ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งหากจะมีการเรียกเก็บเพิ่มขึ้น ก็จะต้องเป็นไปเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้หรือดอกเบี้ยเงินกู้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในด้านอื่น แต่หนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ที่อาจลดลงได้เร็วขึ้น ก็จะช่วยให้ทางการไทยสามารถจัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปใช้ในการพัฒนาและเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยได้มากขึ้นหลังจากนี้ 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

Econ Digest