ตลาดปลากระป๋องในปี 2550 ต้องเผชิญปัญหาในด้านปริมาณปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญมีปริมาณลดลง และราคาแพงขึ้น ส่งผลกระทบอย่างมากต่อต้นทุนการผลิต แม้ว่าตลาดภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัว แต่ตลาดส่งออกประสบปัญหาชะลอตัว อันเป็นผลมาจากผู้บริโภคในสหรัฐฯนั้นลดปริมาณการบริโภค เนื่องจากวิตกถึงปัญหาการตกค้างของสารปรอทในผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มประหยัดค่าใช้จ่าย และพิจารณาราคาสินค้ามากขึ้น นอกจากนี้การที่เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกปลากระป๋องของไทยด้วย จากเดิมที่ผู้ส่งออกของไทยเสียเปรียบในเรื่องที่ประเทศคู่ค้าสำคัญทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปยกเว้นหรือลดภาษีให้กับประเทศคู่แข่งสำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯยกเว้นภาษีการนำเข้าปลาทูน่าบรรจุถุงให้กับเอกวาดอร์ สหภาพยุโรปลดภาษีให้กับกลุ่มประเทศในแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจปลากระป๋องของไทยต้องเร่งปรับตัว ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่นั้นค่อนข้างได้เปรียบผู้ประกอบการรายเล็กและรายกลาง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวมากกว่า รวมทั้งยังสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม พร้อมกับการควบคุมสินค้าคงคลังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับในปี 2551 นับว่าเป็นปีที่น่าจับตามอง เนื่องจากจะเป็นปีที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมปลากระป๋องของไทยอย่างเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นกรณีการลงทุนในเรื่องกองเรือประมงน้ำลึกทั้งเพื่อความมั่นคงในด้านวัตถุดิบและเอื้อต่อการได้รับสิทธิประโยชน์จากการเจรจาเขตการค้าเสรีกับญี่ปุ่น และการเจรจากับสหภาพยุโรปตามกฎแหล่งกำเนิดสินค้า กรณีการไปลงทุนในประเทศที่เป็นแหล่งที่มีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม หลังจากในระยะที่ผ่านมาไทยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการลงทุนขยายตลาดในประเทศคู่ค้า นอกจากนี้ การผลักดันให้สินค้าปลาทูน่ากระป๋องเข้าไปอยู่ในบัญชีรายชื่อสินค้าที่จะเจรจาเขตการค้าเสรีอาเซียน-อียูจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องไปยังตลาดอียูในปี 2551 เนื่องการชดเชยโควตาการส่งออกปลาทูน่ากระป๋องที่อียูให้กับไทยจะหมดอายุลงในปี 2550 นี้
คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกปลากระป๋องของไทยในปี 2551ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากยังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมในประเทศคู่ค้าหลักที่เป็นอุปสรรคในการส่งออก โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐฯ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดสหภาพยุโรปนั้นทิศทางการส่งออกนั้นต้องรอดูผลความสำเร็จในการผลักดันให้ปลากระป๋องเข้าไปเป็นหนึ่งในรายการสินค้าการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ซึ่งทำให้สินค้าปลากระป๋องไทยได้อานิสงส์ในการลดภาษีนำเข้า โดยจะมาทดแทนโควตานำเข้าที่ทางสหภาพยุโรปชดเชยให้ ซึ่งจะหมดอายุลงในปลายปีนี้ ส่วนตลาดส่งออกที่มีแนวโน้มดีนั้นมีเพียงตลาดญี่ปุ่น โดยจะได้รับอานิสงส์จากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น