Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤศจิกายน 2550

การค้า

การส่งออกไทยปี 2550-2551: ปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยสนับสนุน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2000)

คะแนนเฉลี่ย
การส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 มูลค่า 110,597.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐมีอัตราการขยายตัวสูงร้อยละ 16.1 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 16.0 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือนช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาพบว่าตัวเลขการส่งออกเดือนกรกฎาคมขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับปีก่อนและเป็นอัตราที่ต่ำกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2550 การส่งออกกลับมาขยายตัวในเดือนสิงหาคมร้อยละ 17.9 และในเดือนกันยายนที่ผ่านมาร้อยละ 10.4 โดยที่ผ่านมาสินค้าส่งออกสำคัญ 3 อันดับแรกได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้ายังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง สินค้าอื่นๆที่มีการขยายตัวได้ดีเช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เครื่องจักร เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า ในขณะที่ยางพารา น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องรับวิทยุ และเสื้อผ้าส่งออกได้ลดลง
การส่งออกสินค้าไทยช่วง 9 เดือนขยายตัวได้ดีในหลายๆประเทศคือ อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ออสเตรเลีย บางประเทศในยุโรป จีน เวียดนาม และมีตลาดใหม่ๆเกิดขึ้นกล่าวคือการส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ก่อนหน้านี้แทบไม่มีการนำเข้าหรือมีการนำเข้าน้อยมากเช่น น้ำตาลทราย เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ในประเทศตะวันออกกลาง ในขณะที่การส่งออกสินค้าไปประเทศคู่ค้าหลักอย่างประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะสหรัฐฯมีการชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ปัจจัยเสี่ยงที่จะยังคงมีผลกระทบต่อการส่งออกในอนาคต ได้แก่ 1) ค่าเงินบาทและเศรษฐกิจสหรัฐ 2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทย 3) เหตุการณ์ความไม่สงบในพม่า 4) ราคาน้ำมัน ส่วนปัจจัยสนับสนุนคือ การขยายตัวของตลาดใหม่และการมีข้อตกลงการค้า
การแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐแพงขึ้นซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะมีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย การที่เศรษฐกิจสหรัฐซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญที่สุดของไทยเกิดชะลอตัวจากปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์บวกกับการที่ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ในสินค้าบางประเภททำให้ไทยสามารถส่งสินค้าส่งออกได้ลดลง ผลกระทบของปัญหาซับไพร์มในสหรัฐอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆมีอัตราการเติบโตลดลงในปีหน้าและทำให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศยุโรปชะลอตัวลงได้ สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่ากระทบการค้าชายแดนผลกระทบขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความรุนแรงของเหตุการณ์ คาดว่าการส่งออกของไทยไปพม่าจะหดตัวลงช่วงท้ายปีหรือจนกว่าเหตุการณ์จะสงบ ราคาน้ำมันที่แพงและมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าจะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งในด้านการผลิตและค่าขนส่ง
ประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง จีน อินเดีย เวียดนาม นั้นความต้องการสินค้ารวมอีกทั้งอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้ไทยสามารถส่งออกไปได้มากขึ้นเห็นได้จากสัดส่วนของการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศเหล่านี้ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีประเทศอื่นๆรวมถึงตลาดใหม่ที่ก่อนหน้านี้มีการส่งออกไปน้อยแต่ปัจจุบันเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และกลุ่มประเทศในแถบตะวันออกกลาง อิหร่าน อินโดนีเซีย รัสเซีย ประเทศยุโรปตะวันออกเช่น เช็ก โปแลนด์ ฮังการี และประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น เม็กซิโก บราซิล รวมไปถึงประเทศในทวีปแอฟริกาบางประเทศ ในส่วนของการมีข้อตกลงการค้าการลดกำแพงภาษีระหว่างกันมีผลทำให้สินค้าไทยส่งออกไปประเทศที่ทำข้อตกลงด้วยมากขึ้น
จากปัจจัยที่ได้กล่าวมาข้างต้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกของไทยปีนี้น่าจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราประมาณร้อยละ 14-15 สูงกว่าเป้าหมายที่มีการประมาณการไว้โดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ แนวโน้มการส่งออกปีหน้ายังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักๆ คือ เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ความผันผวนของค่าเงินและราคาน้ำมัน โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2551 คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่เกินร้อยละ 10 ในขณะที่อนาคตการส่งออกของไทยในระยะยาวขึ้นกับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกทั้งในเรื่องของต้นทุนและคุณภาพ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


การค้า